รวมให้แล้ว! 8 ค่าใช้จ่าย ที่ชาวเฟรชชี่ต้องเตรียมเมื่อเข้าสู่มหา’ลัย

 สวัสดีค่ะ ชาว Dek-D ทุกคน สำหรับน้องๆ ม.6 นอกจากจะต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย และศึกษาข้อมูลต่างๆ ของคณะ/สาขาที่อยากเรียนแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราจะต้องวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าสำหรับการใช้จ่ายในระหว่างที่เราอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ

รวมให้แล้ว! 8 ค่าใช้จ่าย ที่ชาวเฟรชชี่ต้องเตรียมเมื่อเข้าสู่มหา’ลัย

‘เรียนมหาวิทยาลัยต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง?’  เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น้องๆ หลายคนน่าจะสงสัยกันและอยากรู้ว่าชีวิตของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งพี่แป้งได้รวบรวมมาฝากน้องๆ ในบทความนี้เรียบร้อยแล้วค่ะ จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างไปดูกันเลย

1.ค่าธรรมเนียมการศึกษา

เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนแรกเลยที่น้องๆ ทุกคนต้องจ่ายอย่างแน่นอน ซึ่งค่าธรรมเนียมการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นจะมีการแบ่งจ่ายที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  • แบบเหมาจ่าย - เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาเท่ากันทุกเทอม ไม่ว่าในแต่ละเทอมหน่วยกิตที่เรียนจะมากหรือน้อยก็ตาม วิธีคิด คือ นำค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรหารด้วยจำนวนเทอม เช่น ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 200,000 บาท เรียน 8 เทอม เท่ากับว่าต้องจ่ายเทอมละ 25,000 บาท ซึ่งการจ่ายในรูปแบบนี้จะรวมค่าบำรุงการศึกษาในส่วนอื่นๆ เอาไว้เรียบร้อยแล้ว
     
  • แบบจ่ายตามหน่วยกิต - เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาตามจำนวนหน่วยกิตที่น้องๆ ลงเรียนในแต่ละเทอม โดยค่าหน่วยกิตของแต่ละคณะ/สาขาก็มีความแตกต่างกัน  แต่การจ่ายในรูปแบบนี้จะยังไม่รวมค่าบำรุงการศึกษาในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าหน่วยกิตตัวละ 500 บาท เรียนทั้งหมด 19 หน่วยกิต และค่าบำรุงการศึกษา 15,000 บาท เท่ากับว่าเทอมนั้นต้องจ่าย 24,500 บาท

2.ค่าเครื่องแต่งกาย

การเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งอย่างเมื่อน้องๆ ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยก็คือ เครื่องแต่งกายต่างๆ ที่เรียกได้ว่าต้องเปลี่ยนใหม่ยกชุดเลยทีเดียว นอกจากจะต้องซื้อเสื้อ กระโปรง กางเกง แบบใหม่แล้ว ยังมีรองเท้า เข็มขัด หัวเข็มขัด เน็กไท เข็มติดเสื้อ และกระดุมเสื้อ (ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย) ที่จะต้องซื้ออีกด้วย ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจซื้อน้องๆ ต้องศึกษากฎระเบียบการแต่งกายที่ถูกต้องของทางมหาวิทยาลัย และวางแผนจำนวนชุดที่จะซื้อให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้เตรียมค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า  

นอกจากชุดนักศึกษาแล้ว ยังมีชุดกีฬาหรือชุดทำกิจกรรม สำหรับการเรียนวิชาพลศึกษา รวมไปถึงบางคณะ/สาขา ที่ต้องเรียนเชิงปฏิบัติทำการทดลองต่างๆ ในห้องแล็บหรือห้องปฏิบัติการ ก็อาจจะต้องมีการซื้อเสื้อกาวน์ หรือเสื้อช็อป สำหรับการเรียนเชิงปฏิบัติอีกด้วยค่ะ  

3.ค่าหนังสือ-เอกสารประกอบการเรียน

สำหรับค่าหนังสือบางมหาวิทยาลัยอาจรวมค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอาไว้ในค่าเทอมเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่เราอาจจะต้องจ่ายเองต่างหากด้วย นอกจากนี้บางรายวิชาอาจารย์จะแจกเอกสารประกอบการเรียนตัวอย่างมาหนึ่งเล่มแล้วให้นักศึกษานำไปถ่ายเอกสารเพื่อนำมาใช้ประกอบการเรียนด้วย พี่แป้งแนะนำว่าหากใครอยากจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้เราลองขอชีทเก่าจากพี่ในสายรหัส หรือรุ่นพี่ในคณะที่เรารู้จักแทนก็ได้นะคะ บางทีเราอาจจะได้ขุมทรัพย์คลังความรู้เพิ่มมาด้วย เช่น เลคเชอร์ที่พี่ๆ ใช้อ่านก่อนสอบ แต่น้องๆ ต้องเช็กก่อนว่าเนื้อหาที่อาจารย์สอนในปีของเรานั้นเป็นเนื้อหาเดียวกันกับปีของรุ่นพี่หรือเปล่า เพราะบางทีทางสาขาวิชาอาจมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอน เพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนในปัจจุบันมากขึ้น

4.ค่าอุปกรณ์การเรียน

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีการเรียนแบบออนไซต์กลายเป็นแบบออนไลน์แทน ดังนั้นอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นสำหรับการเรียนออนไลน์คงหนีไม่พ้น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือไอแพด นั่นเอง แต่ถ้าหากน้องๆ คนไหนที่มีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับการซื้อ ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีบริการให้ยืมอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักศึกษา หรือเข้าไปใช้บริการห้องคอมพิวเตอร์ที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมเอาไว้สำหรับนักศึกษาก็ได้เช่นกันค่ะ  

ต่อมาถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะไม่ใช่อุปกรณ์แต่ อินเตอร์เน็ต ก็ถือเป็นอีกสิ่งที่ต้องมีสำหรับการเรียนออนไลน์ เพราะถ้าไม่มีเราก็จะไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ นอกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการเรียนออนไลน์แล้ว ค่าอุปกรณ์การเรียนเพิ่มเติมมักจะขึ้นอยู่กับคณะและสาขาที่เราเลือกเรียนด้วย เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ใครที่เลือกเรียนในคณะนี้อาจจะต้องซื้อพวกอุปกรณ์วาดภาพ ไม่ว่าจะเป็น กระดาษ ดินสอดราฟ กระดาน  สีน้ำ ไม้สเกล กระบอกใส่แบบ ฯลฯ  

5.ค่ากิจกรรม

สำหรับน้องปี 1 บอกได้เลยว่ามีกิจกรรมที่รอให้เราได้ทำและร่วมสนุกอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น รับน้อง กีฬาสี เฟรชชี่ไนท์ ออกค่าย และกิจกรรมอื่นๆ ที่ทางชมรมหรือสาขาจัดขึ้น โดยกิจกรรมเหล่านี้ก็มีทั้งแบบที่เราต้องจ่ายเองและไม่ต้องจ่าย ดังนั้นน้องๆ อาจจะต้องมีการเตรียมเงินส่วนนี้เผื่อเอาไว้ด้วย ซึ่งการทำกิจกรรมจะทำให้เราได้พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากห้องเรียน เช่น ทักษะความเป็นผู้นำ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ รวมไปถึงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน ทำให้เรามีผลงานที่สามารถนำไปยื่นเพื่อสมัครงานในอนาคตได้ ทั้งนี้กิจกรรมเด่นได้แต่อย่าละทิ้งเรื่องเรียนของเราด้วยนะคะ ควรจะแบ่งเวลาของเราให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียน

6.ค่าหอพัก

แน่นอนว่าน้องๆ บางคนต้องมีการโยกย้ายถิ่นฐานจากบ้านเข้ามาอยู่ที่หอพัก เพื่อให้การเดินทางไปเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ สะดวกมากขึ้น การหาหอพักสำหรับน้องๆ เฟรชชี่ รวมไปถึงรุ่นพี่ปีอื่น คงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พี่แป้งเชื่อว่าตัดสินใจได้ยากมากๆ เพราะเลือกไม่ถูกว่าจะพักหอในหรือหอนอกดี เนื่องจากแต่ละหอก็มีค่าใช้จ่ายและข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ทางที่ดีพี่แป้งแนะนำว่าให้เราพิจารณาปัจจัยต่างๆ ก่อนที่จะเลือกหอดีกว่า โดยน้องๆ สามารถอ่านบทความนี้ >> คลิก << เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกหอได้เลยค่ะ นอกจากจะต้องจ่ายค่าหอพักแล้ว อย่าลืมว่ายังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่เราต้องจ่ายเพิ่มเติมด้วย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบำรุงส่วนกลาง เป็นต้น  

7.ค่าเดินทาง

น้องๆ ที่อยู่หอคงคิดว่าอยู่หอแล้วก็ไม่ต้องเสียค่าเดินทางใช่มั้ยคะ ถ้าเป็นหอในก็ใช่ค่ะ แต่ถ้าหากเป็นหอนอกแล้วที่ตั้งของหออยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยออกไป ยังไงก็ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ดี เว้นแต่ว่าเราจะเผื่อเวลาสำหรับการเดินมาเรียน ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัว (แต่ถ้าเดินตอนเที่ยงๆ ไม่น่าไหวนะคะ แดดเมืองไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก T0T) และสำหรับน้องๆ ที่เดินทางไปกลับบ้าน-มหาวิทยาลัย ต้องเดินทางโดยรถประจำทางหรือรถสาธารณะ ซึ่งบางคนอาจจะต้องนั่งรถหลายต่อ ดังนั้นเราต้องมีการคำนวณอัตราค่าโดยสารที่ต้องจ่ายเอาไว้ด้วย ส่วนใครที่ขับรถมามหาวิทยาลัยเองก็ต้องมีการสำรองเงินที่ใช้จ่ายค่าน้ำมันด้วยเหมือนกัน  

8.ค่าอาหาร

เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่จะลืมไม่ได้เลย เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง! สำหรับใครที่อยู่บ้านเราอาจจะไม่ต้องจ่ายค่าอาหารมากเท่าไหร่ เพราะสามารถกินข้าวจากที่บ้านได้ แต่ถ้าใครที่อยู่หอต้องบอกก่อนเลยว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นส่วนที่ควบคุมยาก และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกด้วย เนื่องจากน้องๆ แต่ละคนใช้จ่ายไม่เท่ากัน แถมอาหารของแต่ละร้านก็มีราคาที่แตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตามเราควรตั้งงบเอาไว้ก่อนว่าเดือนนี้จะกินไม่เกินกี่บาท หรือเดือนนี้งดกินชาบูปิ้งย่างได้มั้ย เพื่อเป็นการประหยัดเงินและสำรองเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เพราะถ้าเกิดว่าวันนึงเราป่วยขึ้นมาก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาดูแลรักษาตัวเองได้

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีส่วนอื่นๆ อีกที่ไม่ได้กล่าวถึง เนื่องจากแต่ละคนมีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่มีทางเท่ากันแน่นอน ทางที่ดีน้องๆ ควรวางแผนค่าใช้จ่ายเอาไว้อาจจะแบ่งเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนตามความสะดวกของตัวเอง ได้เลยค่ะ

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด