มีดเล่มแรกที่นักเขียนนวนิยายนิยมใช้เชือดตัวเอง

 

โดย ประดับเกียรติ ตุมประธาน
อดีต-บรรณาธิการบริหารนิตยสารกุลสตรี,
บรรณาธิการคัดสรรต้นฉบับ สำนักพิมพ์ในเครือสถาพรบุ๊ค
ปัจจุบัน-บรรณาธิการอิสระและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Magic book

หลังจากที่คุณตัดสินใจจะเขียนนวนิยายแล้ว ยังมีหลายสิ่งที่คุณควรจะทำความรู้จักเอาไว้ เพราะมันจะช่วยให้คุณเขียนสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นและมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น
 


1. คุณควรรู้จัก Voice ของตัวเอง (หรือที่บางตำราเรียกว่า Tone บางคนอาจเรียกว่า Signature)


นักเขียนและบรรณาธิการหลายคนมักลืมนึกถึงความสำคัญของ Voice หรือนิสัยของนักเขียนที่ถ่ายทอดลงไปในเนื้องาน และมักไปให้ความสำคัญกับเรื่องสไตล์ เทคนิค ทั้งที่ Voice เป็นสิ่งที่ทำให้นักเขียนได้รับความรักอย่างยืนยาว และเกิดความรู้สึกใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกันจากนักอ่านมากที่สุด พร้อมกันนั้นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักอ่านเลือกผลงานของนักเขียนเหล่านั้นเป็นอันดับต้นๆ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกงานเขียนแนวเดียวกัน นักเขียนฝีมือระดับเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขการเงินที่จำกัดในช่วงเวลานั้น

(นักเขียนหลายคนมักนำ Voice ไปเหมารวมกับสไตล์ แล้วเรียกว่า 'ลายเซ็น' ทั้งที่แท้จริงแล้ว Voice เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ 'สำคัญมาก' ของ signature-ลายเซ็นต่างหาก)

ผมเคยคุยเรื่องนี้กับนักเขียนกลุ่มหนึ่งถึงความสำคัญของ voice แต่พวกเขาก็แย้งว่า ไม่จริงเลย มันไม่มีความจำเป็นอะไรนักหนา พร้อมอธิบายว่าหัวใจสำคัญของนวนิยายรัก นวนิยายที่ไม่เหนือจริงอยู่ที่ตัวละครเอกซึ่งเดินไปตามพล็อตที่ถูกวางไว้ ขณะที่นวนิยายเหนือจริงหรือนวนิยายแฟนตาซีนั้น หัวใจของเรื่องอยู่ที่การผจญภัยในสถานการณ์ที่ตัวละครต้องไปประสบพบพาน

ผมก็ไม่เถียงนะครับ ผมรู้ว่านั่นเป็นส่วนสำคัญที่นักเขียนแต่ละแนวควรรู้จริงๆ ทว่าอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในโลกที่การแข่งขันสูง การตลาดที่มีการเจาะเฉพาะกลุ่มมีมากขึ้นในปัจจุบันและแน่นอนว่าในอนาคตด้วยก็คือ Voice นี่เอง
               
 ถ้าอย่างนั้น Voice คืออะไร

ในตำราเขียนนวนิยายหลายเล่มอาจให้ขอบเขตกับเจ้าสิ่งนี้ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเชื่อและสนใจใช้ทฤษฏีไหน แต่สำหรับผม ผมไม่ได้ให้ขอบเขตของเจ้าสิ่งนี้มากไปกว่าคำว่า 'นิสัย' หรือความสนใจเฉพาะด้านในชีวิตของนักเขียนแต่ละคน

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพของคำว่า voice ง่ายๆ ดังนี้

นักเขียนญี่ปุ่นคนหนึ่งเขาชอบทำอาหารมาก เขามีเคล็ดลับแปลกๆ น่าสนใจในการทำอาหารอยู่มากมาย ซึ่งผมคิดว่าเขาคงเป็นคนชอบกิน หรือไม่ก็ชอบเรียนทำอาหารเป็นแน่

ในนวนิยายของเขาทุกเรื่อง เขาจะสอดแทรกเทคนิคใหม่ๆ แปลกๆ ซึ่งทำได้จริง อร่อยจริง 

คนอ่านนวนิยายที่รักการกิน ชื่นชอบการทำอาหาร จึงชื่นชอบงานเขามาก ดังนั้นเมื่อต้องซื้อนิยายกลับไปอ่านที่บ้าน และมีนวนิยายให้เลือกบนแผงมากมายจนไม่รู้ว่าจะหยิบอะไร หรืองบมีจำกัด งานของเขาก็จะโดดเด่นขึ้นมาจากแผงหนังสือทันที และนั่นหมายความว่า เม็ดเงินกำลังเดินทางเข้ากระเป๋าของเขา

ซึ่งเทคนิคง่ายๆ ของคุณก็คือ...ลองตั้งคำถามดูซิว่าคุณชอบอะไรเป็นพิเศษ รู้เรื่องอะไรมากกว่าเรื่องอื่นๆ หรืองานอดิเรกที่คุณทำอย่างไม่รู้เบื่อคืออะไร แล้วหยิบมันมาใช้เป็น voice ของคุณ หรือถ้าไม่รู้ ก็ลองถามพ่อแม่ของคุณ คนรักของคุณดูก็อาจช่วยได้

แต่พยายามอย่าคิดเข้าข้างตัวเอง...สร้างภาพให้ตัวเอง ทั้งที่คุณไม่ได้รักหรือสนใจในสิ่งนั้นจริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นคนอ่านจะจับได้ว่า Voice หรือนิสัยของคุณที่ปรากฏในผลงานมัน 'เฟค' เหมือนตอนที่คุณเริ่มต้นมันขึ้นมา
               

2 .จงแยกให้ออกระหว่าง 'แนวคิดเริ่มต้น' กับ 'พล็อต'


หลายคนมักจะคิดว่าแนวคิดเริ่มต้นหรือไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมาอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจมาจากพล็อตสำเร็จรูปต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในโลก เพื่อน คนในครอบครัว ภาพยนตร์ จินตนาการต่างๆ ของตนเอง หรือสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน คือเค้าโครงเรื่อง (พล็อต) แล้ว  แต่แท้จริงมันคือสิ่งที่เรียกว่าจุดเริ่มต้นของไอเดียต่างหาก

หลายคนตัดสินใจเปิดเรื่องทันทีและด้นสดไปเรื่อยๆ

ซึ่งหลายคนอาจเขียนได้ดีชวนประทับใจ แต่พบว่าส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดปัญหามากมายอย่างคาดไม่ถึง และพานทำให้เขียนไม่จบ หรือไม่สนุกเอาเสียเลย เรียกว่านี่เป็นมีดเล่มแรกที่นักเขียนนวนิยายมักใช้เชือดตัวเองโดยไม่รู้ตัว
 
เราต้องแยกให้ออกนะครับ ว่าไอเดียเริ่มต้นกับพล็อตต่างกันอย่างไร

จากประสบการณ์การทำงานบรรณาธิการของผมกับการเปิดคลาสสอนเขียนนวนิยาย หลายครั้งที่มีการนัดนักเรียนมาตบพล็อตเพื่อให้เรื่องแน่นขึ้น มีทิศทางมากขึ้น หรือรับฟังสิ่งที่เขาคิดเพื่อพัฒนาไปร่วมกัน ผมพบว่าหลายคนส่งแนวคิดเริ่มต้นของเรื่องมาให้ ไม่ใช่พล็อตเรื่องนั้น มีปริมาณเกินกว่าครึ่งของจำนวนนักเรียนทั้งหมด

ตอนเริ่มทำงานบรรณาธิการปีแรกๆ ผมเองก็ไม่ทันสังเกตเห็นจุดนี้ เพราะหนังสือหรือชั้นเรียนเขียนนวนิยายต่างๆ ที่ผมไปเรียนนั้นแทบไม่มีใครพูดถึงหรือจับสองสิ่งนี้แยกออกจากกันเลย ส่วนใหญ่จะพุ่งไปที่พล็อต โดยไม่ได้สอบถามว่า สิ่งที่นักเขียนคิดนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นของไอเดียหรือพล็อตกันแน่

ผมเลยคิดไปเองอยู่นานว่าไอเดียเริ่มต้นของผมคือพล็อต จึงไม่สามารถจัดการปัญหาเมื่อลงมือเขียนได้

วิธีการตรวจสอบว่าเรื่องของคุณนั้นเป็นแค่ไอเดียเรื่องหรือพล็อตก็ง่ายมาก
 
ถ้าคุณเล่าให้ใครฟังแล้วเขียนหรือพิมพ์ลงกระดาษ พบว่ามีแต่การเริ่มเรื่อง แต่ไม่รู้ตอนกลางกับตอนจบเป็นอย่างไร หรือมีตอนจบแค่แบบรางเลือน นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของไอเดียเรื่องนั่นเอง เพราะถ้าเป็นพล็อตเรื่อง จะต้องมีองค์ประกอบมากกว่านั้น อย่างน้อยต้องมีต้น กลาง จบ อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร

การสะสม สรรหา หรือการได้มาซึ่งแรงบันดาลใจของเรื่องเป็นสิ่งสำคัญมากในการเขียนนวนิยาย เรียกว่าเป็นหัวใจของการเขียนนวนิยายเลยก็ว่าได้

แม้นว่าความต้องการของนักเขียนบางคนจะสนใจเขียนนวนิยายต่างออกไปจากคนอื่นๆ เช่นมุ่งแก้ปัญหาสังคม เรื่องธุรกิจ หรือปัญหาอะไรก็ตามแต่ แต่ทั้งหมดล้วนมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเช่นเดียวกัน

แต่ถามว่ามีไหม...นวนิยายที่เขียนขึ้นมาโดยที่นักเขียนขาดแรงบันดาลใจ ผมเชื่อว่ามีและมีมากด้วย เพียงแต่ไม่อาจคาดเดาได้ว่ามันเกิดจากอะไร
               
แรงบันดาลใจอันเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียของนักเขียนนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสะสม
หลังจากสรรหามาแล้ว

ผมชอบเข้าไปชมการสอนหรือพูดคุยเกี่ยวกับการเขียนนวนิยายของนักเขียนฝั่งตะวันตกใน Youtube มาก ผมรู้สึกว่าความคิด เทคนิคบางอย่างที่หลายคนนำมาเล่าให้ฟังนั้นช่างแปลกและน่านำมาปรับใช้ เคยมีเทคนิคการสะสมไอเดียของนักเขียนแนวลึกลับคนหนึ่งที่ผมติดใจ เลยขออนุญาตหยิบมาเป็นกรณีศึกษา แม้นว่าบางครั้งแนวคิดการเขียนของนักเขียนโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกนั้นจะไปคนละทิศ

แม้นกระทั่งในไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้กันก็ยังต่างกันในหลายส่วน

ดังนั้น ถ้าเราจะเขียนนวนิยายไทยให้คนไทยอ่าน แต่ยึดรูปแบบหรือขนบสากลมาใช้อย่างฝรั่งจ๋า ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้  มันดีแบบฝรั่งแต่อาจเป็นที่น่าเบื่อของนักอ่านไทย 

แต่ถ้าจะนำมาใช้แบบเน้นๆ ก็หัดปรับเหมือนรสชาติอาหารหลายชนิด ที่ทำให้ต่างจากต้นกำเนิดเพื่อให้คุ้นกับลิ้นรับรส หรือรสนิยมของคนไทย

ดังนั้น จงอย่า อ่านและศึกษาการเขียนแต่นวนิยายฝรั่ง เลียนแบบนวนิยายฝรั่งเท่านั้น...ของไทยเราก็ต้องไม่ลืมที่จะอ่านหรือเรียนรู้ด้วย



กรณีศึกษาของชายผู้เบื่อสมุดบันทึก 
ก่อนที่เขาจะเป็นนักเขียนนวนิยายลึกลับ เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักอ่าน ผู้ใหญ่ที่รู้ว่าเขาสนใจอยากเป็นนักเขียนนวนิยายแนะนำให้เขาหาสมุดบันทึกติดตัวเอาไว้ มีอะไรน่าสนใจก็จดเอาไว้ ซึ่งเขาก็ทำตามอยู่หลายปีจนมีผลงานเขียนออกมาหลายเล่ม แล้ววันหนึ่งเขาก็พบว่าเขาเริ่มไม่สนุกกับการเปิดสมุดบันทึกเล่มต่างๆ ที่กองพะเนินอยู่ในบ้าน

เขาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการสะสมข้อมูลใหม่ โดยนำไอเดียมาจากการส่งโปสการ์ดสถานท่องเที่ยวต่างๆ ที่ล้วนสวยงามและน่าประทับใจให้ตัวเองตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เขานำวิธีนี้มาใช้กับการเขียนนวนิยาย เพียงแต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่เขาต้องพึ่งไปรษณีย์

เขาลงทุนซื้อแผ่นไม้ขนาดใหญ่มาติดไว้บนผนังบ้าน จากนั้นจึงจัดหากล่องกระดาษราคาถูกมาทำเป็นกล่องลักษณะคล้ายกล่องรับจดหมาย โดยที่กล่องเหล่านั้นเขาจะตั้งชื่อเรื่องแบบไม่เป็นทางการเอาไว้ และบังคับตัวเองไม่ให้มีกล่องมากกว่าสิบใบ (ถ้ามากกว่านั้นคงฟุ้งซ่านนั่นเอง) แล้วนำไอเดียที่ได้มาเขียนลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ เพื่อหย่อนในกล่องแต่ละใบ

ในการสะสมไอเดียจำนวนมากที่ติดอยู่บนผนังในแต่ละช่วง คือการคาดเดาไปว่าไอเดียแต่ละชิ้นนั้นน่าจะเหมาะกับเรื่องอะไร และเติมลงไปสมทบกับข้อมูลต่างๆที่เขาทั้งถ่ายรูป ทั้งสำเนาจากหน้ากระดาษ ใบปลิว หรืออะไรก็ตามแต่ที่เขาพบเจอลงในกล่อง และเมื่อถึงเวลาที่เขาต้องเขียนเรื่องใหม่ เขาก็จะเปิดกล่องกระดาษออกมาดู และเรียบเรียงเรื่องราวต่างๆ ในหัวออกมาเพื่อใช้กับพล็อตใหม่ นอกเหนือจากการศึกษาเพิ่มเติมตลอดระยะเวลาการเขียน

อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ผมเชื่อว่าแต่ละคน 'น่าจะ' มีเทคนิคเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป อยากเสนอให้นักเขียนทุกคนลองมองหาเทคนิคการสะสมไอเดียเริ่มต้นนี้ให้เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ หรือเป็นชื่อเรื่องก็ได้ เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราต้องใช้มันจะสามารถหยิบมาใช้งานได้ทันท่วงที
  
เมื่อมีไอเดียเริ่มต้นแล้ว ต้องนำมาพัฒนาต่อด้วย

พูดถึงการเขียนพล็อตหรือเรื่องย่อ มีนักเขียนหลายคนที่ผมรู้จักบอกว่าจะไม่ทำเลย ผมจึงถามกลับไปว่าเพราะอะไร ส่วนใหญ่บอกว่าเพราะไม่เคยเขียน ไม่เคยทำหรือทำแล้วกลัวเขียนไม่ออก เขียนไม่สนุก เพราะรู้เรื่องทั้งหมดแล้ว ผมต้องพยายามอธิบายพวกเขาอย่างใจเย็นว่า ถ้าเราทำเอาไว้ มันจะช่วยในการเติมแต่งพล็อต หรือตบพล็อตร่วมกับผู้รู้ บรรณาธิการส่วนตัว หรือใครอื่นได้ แต่ถ้าไม่ทำ ไม่มี ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร และหลายครั้งผมพบว่า ปัญหาที่พวกเขาไม่ทำก็คือ พวกเขาไม่เข้าใจว่าพล็อตก่อนเขียนที่พัฒนามาจากไอเดียเริ่มต้น กับพล็อตที่ทำเมื่อเขียนจบ แล้วเพื่อส่งเพื่อให้สำนักพิมพ์หรือค่ายละครพิจารณาเมื่อเขาขอมานั้นมันไม่เหมือนกัน
 
แต่ขอย้ำว่า ผมไม่แนะนำให้ทำพล็อตก่อนเขียนแน่น เหมือนพล็อตที่ย่อจากต้นฉบับที่เราเขียนเสร็จเพื่อส่งให้สำนักพิมพ์หรือค่ายละครพิจารณา เพราะมันจะทำให้เราเขียนลำบาก เนื่องจากบังคับทิศทางของตัวเองมากเกินไป
               

3 นำไอเดียเริ่มต้นมาพัฒนาพล็อตหรือตัวละคร


ไม่ว่าไอเดียเริ่มต้นจะมาจากแรงบันดาลใจอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วมันจะมุ่งเข้าสู่เรื่องราวต่างๆ โดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องมาตั้งคำถามว่านิยายที่ดีนั้นควรตั้งต้นจากอะไรกันแน่ ระหว่างพล็อตกับตัวละคร (เอาเวลาไปคิดถึงการเปิดเรื่องดีกว่า) แต่สิ่งสำคัญที่คุณต้องทำก็คือการจัดระเบียบความคิดให้เป็นระเบียบแบบแผน และหาชั้นเชิงในการเขียนมาช่วยต่างหาก
 
คุณอาจจะเริ่มพุ่งไปที่พล็อตก่อน
ในขั้นตอนนี้คุณจะต้องเริ่มทำเส้นเรื่องหลักแล้วว่าเรื่องของคุณนั้นเป็นอย่างไร ไม่ว่าคุณจะได้เรียนรู้มาจากตำราไหนๆ ว่าพล็อตแต่ละแนว แต่ละประเภทควรทำอย่างไร แต่เมื่อคุณดึงมันให้ตึง มันก็จะกลายเป็นพล็อตหรือเส้นเรื่องที่ตรงเหมือนไม้บรรทัด และรอให้คุณเอาปลายทั้งสองด้านมาต่อกันจนกลายเป็นวงล้อของเรื่องทั้งหมด  แต่ถ้าคุณยังนึกไม่ออก ก็ให้นึกถึงสร้อยคอทองคำสุดไฉไลที่คุณสวมอยู่บริเวณลำคอนะครับ (เราจะมาคุยเรื่องพล็อตแบบเน้นๆ อีกทีในบทต่อไป เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมาก)
               
 คุณอาจจะพุ่งที่ตัวละครก่อน
ในขั้นตอนนี้คุณต้องเข้าไปทำความรู้จักตัวละครเอกของเรื่อง และตัวละครอื่นๆ ที่สำคัญ คุณอาจต้องใช้เวลามากหน่อยถ้าคุณไม่ได้รับรับแรงบันดาลใจมาจากใครสักคนเพื่อนำมาพัฒนาเป็นตัวละคร (ซึ่งอาจเกิดจากความสนใจในบุคลิกลักษณะของใครบางคน หรือรู้สึกนึกถึงจริตอะไรสักอย่างของมนุษย์ที่ถูกใจขึ้นมา)

ผมขอแนะนำว่าให้คุณเล่าความน่าสนใจของตัวละครใส่กระดาษ หรือเล่าให้เพื่อนของคุณฟังบ่อยๆ รวมทั้งลองศึกษาหนังสือที่เกี่ยวกับความนึกคิดของมนุษย์ จากนั้นก็ทำตัวละครให้กลม โดยตั้งคำถามมากๆ หรืออาจทำแบบสอบถามตัวละคร โดยสมมุติว่าเราเป็นตัวละครตัวนั้น แล้วตอบออกมาเป็นข้อๆ จนเห็นเขาหรือเธอเดินมาอยู่ตรงหน้า จนคุณแทบจะจับต้องเนื้อตัวได้

แต่ต้องระวังและห้ามลืมนะครับว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้มีด้านสีดำหรือขาวเพียงด้านเดียวเท่านั้น คุณอาจต้องหาจุดดีและจุดด้อย ดีเลวของเขามาให้เจอด้วย เพียงแต่ต้องให้น้ำหนักว่าแบบไหนควรใช้กับตัวละครใด

แต่ถ้าคุณใช้วิธีการยืมคาแรคเตอร์คนที่คนรู้จัก หรือนักแสดงที่ใกล้กับตัวละครในมโนภาพของคุณมาใช้มันก็จะง่ายขึ้นมาเล็กน้อย หรือไม่คุณอาจจะใช้ทฤษฏีหาร 7  ที่พบว่าช่วยได้ในระดับที่ดีมาก และทฤษฏีนี้ดีมากสำหรับการเขียนนวนิยายชีวิตของคนจริงๆ หรือการเขียนอัตชีวประวัติมากเหลือเกิน

ทฤษฏีหาร 7 คืออะไร
มันคือทฤษฏีพื่อรำลึกภูมิหลังตัวละคร โดยคุณอาจเลือกตัวละครในเรื่องมาทำความรู้จักเพิ่มเติมได้ หรือถ้าคุณคิดว่ายุ่งยากเกินไปก็อาจผ่านไป

ทฤษฏีนี้มีการแบ่งการทำความรู้จักตัวละครในช่วงเวลาทุกเจ็ดปี เพราะมนุษย์เรานั้นมักจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ตามช่วยระยะเวลาดังนี้
 
 - ในครรภ์มารดา - วัยเด็ก
 - ก่อนและย่างสู่วัยรุ่น
 - วัยรุ่นถึงวัยแรกหนุ่มสาว
- วัยเริ่มต้นการทำงาน
- วัยทำงาน /สร้างครอบครัว
- วัยทำงานที่มีการสร้างปึกแผ่นมากขึ้น หรือล้มเหลว
- เริ่มสู่วัยทอง
- วัยทอง - วัยก่อนสู่การเกษียณ
- วัยเกษียณ
- วัยชรา – ถึงแก่กรรม

หลังจากที่คุณทำอย่างนี้แล้ว คุณจะได้ไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำไปสร้างพล็อตให้ตัวละครเอกได้เข้าไปผจญภัย พบเจอกับเรื่องราวต่างๆ เพราะแท้จริงแล้ว นวนิยายทุกเรื่องนั้น เป็นเรื่องของการผจญภัย การเรียนรู้ของตัวละครเอกทั้งสิ้น (หรือตัวอื่นๆด้วย) ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายรัก นวนิยายแฟนตาซี หรือนวนิยายประเภทอื่นๆ

เนื่องจากนวนิยายทุกเรื่อง ทุกแนวล้วนมีจุดเริ่มต้นของตัวละครที่มีชีวิตธรรมดา แล้วมีเสียงเรียกแห่งการผจญภัยให้ตัวละครเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น
 
 จะเปลี่ยนน้อย เปลี่ยนมาก หรือเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงก็ล้วนแต่ต้องเปลี่ยน ซึ่งหลายครั้งอาจมีเรื่องของช่วงเวลาที่เหมาะสมเข้ามาเพื่อให้เกิดความสมจริงมากขึ้นด้วย
 
และเสียงเรียกแห่งการผจญภัยเหล่านั้น แท้จริงแล้วมันก็คือความขัดแย้งบางอย่าง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Conflict ที่หลายคนเคยงงว่ามันคืออะไรนั่นเอง 
 
คราวนี้น่าจะเริ่มเห็นภาพมากขึ้นนะครับ
 
 แต่กระนั้นในนวนิยายหนึ่งเล่ม ยังมีความขัดแย้งอีกมากมายรออยู่ ทั้งเกิดจากสถานการณ์และตัวละครเข้ามา และความขัดแย้งเหล่านั้นเองที่ทำให้นวนิยายสนุก   (เราจะมาคุยเรื่องตัวละครแบบเน้นๆ อีกทีในบทต่อๆไป เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมาก)

ข้อควรระวังไว้ในเรื่องของพล็อตกับตัวละครก็คือ... การพัฒนาตัวละครกับการพัฒนาพล็อตนั้น คุณจะต้องคิดถึงความสมจริง ความเป็นไปและที่สำคัญตัวละครต้องมีการเรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาด้วย แม้นว่าตัวละครหรือพล็อตที่คุณจะเขียนนั้นจะเป็นเรื่องเหนือจริง เรื่องแฟนตาซี หรืออื่นๆ ก็ตาม
มีนวนิยายอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมมักจะแนะนำให้นักเขียนอ่านเพื่อเรียนรู้เรื่องการพัฒนาตัวละคร รวมทั้งแก่นเรื่อง นั่นก็คือเรื่อง 'บ่วงหงส์' ของคุณกิ่งฉัตร
 
นวนิยายเรื่องนี้สนุกมาก ผมอ่านน่าจะไม่ต่ำกว่าห้ารอบ ผู้เขียนพัฒนาตัวละครไปตามแก่นของเรื่องที่วางไว้ได้ชัดเจน และสมบูรณ์แบบมาก

ผมจึงขอยกย่องว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นประหนึ่งหนังสือการสอนเขียนนวนิยาย เป็นข้อบังคับที่นักเขียนนวนิยายทุกคนควรศึกษาและอ่านหลายรอบ ไม่ว่าคุณจะเขียนนวนิยายรัก นวนิยายแฟนตาซี หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะทุกอย่างล้วนแต่มีรากการเขียนไม่ต่างกันเลย
 


4. สร้างลิ้นชักความทรงจำ แฟ้มหรือสมุดบันทึกนักเขียนนิยายเฉพาะเรื่องนั้นๆ (writer note)

แม้นว่าในโลกนี้มีนักเขียนที่ประสบความสำเร็จมากมายที่ใช้แค่การร่างไอเดียของตนเอาไว้ในสมอง หรือบางคนแค่ทำพิมพ์เขียวสั้นๆ ไว้เพียงเล็กน้อย แต่ขณะเดียวกัน ยังมีนักเขียนอีกเป็นจำนวนมากที่มีการร่างองค์ประกอบนวนิยายของตนเองไว้เพื่อช่วยตรวจสอบ และป้องกันความผิดพลาดหรือหลงลืม

การสร้างลิ้นชักความทรงจำ แฟ้ม หรือสมุดบันทึกนักเขียนเฉพาะเรื่องจึงนับว่ามีความสำคัญไม่น้อย แต่ถ้าคุณเชี่ยวชาญหรือมีความจำเป็นเลิศ จะทำหรือไม่ก็ไม่ผิดนะครับ แต่สำหรับคนขี้ลืมอย่างผม ที่พลาดเขียนชื่อตัวละครผิดอยู่บ่อยๆ ลำดับญาติผิดบ่อยๆ มันค่อนข้างสำคัญมากๆ

ยิ่งถ้าคุณออกแบบมันได้ดี...มันจะอาจกลายเป็นอาวุธประจำตัวที่ยอดเยี่ยมของคุณเลยก็เป็นไปได้

แล้วเจอกันใหม่ในในบทถัดไปนะครับ       
                               
อ่านเคล็ดลับโดย บ.ก. โป่ง ตอนเก่าๆ ได้ที่นี่เลย 
เจาะทุกเทคนิคเขียนฉากเปิดนิยายแฟนตาซี โดย บ.ก. โป่ง

 

พี่อติน
พี่อติน - Writer Editor ผู้ดูแลหมวดนักเขียนที่หลงใหลการอ่านแบบสุดๆ และไม่เคยพลาดทุกข่าวสารในวงการวรรณกรรม!

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

13 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Ks Ton 10 ส.ค. 59 23:26 น. 8
ขอบคุณที่แนะนำครับ ได้ประโยชน์มากครับ ผมเคยดูละครเรื่องบ่วงหงส์ เนื้อเรื่องสนุกมาก จะไปหานิยายมาอ่านครับ
0
กำลังโหลด
masked v Member 13 ส.ค. 59 22:05 น. 9

เรื่องของ voice นี่เหมือนกับเรื่องตัวตนของนักเขียนใช่ไหมครับ ผมว่านักเขียนต้องมี inner มี passion ของตัวเอง แล้วงานจะมีเอกลักษณ์ครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ณรางคนาง Member 14 ก.ย. 62 08:11 น. 13

ขอบคุณสำหรับไอเดียดีๆ นะคะ ได้ความรู้มากๆ เลยค่ะ แต่ขอแนะนำทีมงานนิดหนึ่งนะคะ ว่าความจริงแล้วหาทางเข้ามาที่ห้องนี้ยากมากเลย น่าจะโปปรโมทดีๆ หน่อย จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่อยากทำงานเขียนมากเลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด