รวมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๙ ที่คนไทยต้องอ่าน #ฉันเกิดในรัชกาลที่๙

 

รวมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๙
ที่คนไทยต้องอ่าน
#ฉันเกิดในรัชกาลที่๙


สวัสดีค่ะชาวไรเตอร์ทุกคน เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ตลอดช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือรัชกาลที่ ๙ ครองสิริราชสมบัติอย่างยาวนานถึง ๗๐ ปี ท่านไม่เพียงแต่ทรงงานหนักเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนชาวไทย แต่ท่านยังทรงมีงานพระราชนิพนธ์ออกมามามายอันแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาและวรรณกรรม

น้องๆ รู้ไหมคะว่าพระองค์นั้นทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับด้านภาษามากเลยค่ะ เห็นได้จากการที่ทรงศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคำศัพท์บาหลี-สันสกฤต ซึ่งพระองค์เชื่อว่าถ้าหากเข้าใจรากศัพท์และที่มาก็จะทำให้เข้าใจธรรมะได้อย่างลึกซึ้ง และถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงเติบโตในต่างประเทศ แต่ว่าการใช้ภาษาไทยของพระองค์ในงานพระราชนิพนธ์นั้นถูกต้อง สวยงามและลึกซึ้งมากเลยค่ะ
 


 

ซึ่งในวันนี้พี่น้ำผึ้งก็ได้รวบรวมงานพระราชนิพนธ์ทั้งที่ทรงแปลและทรงพระอักษรเองมาให้น้องๆ ชาวเด็กดีได้อ่านกันค่ะ ถ้าอย่างนั้นตามลงมาดูเลยค่ะว่ามีอะไรบ้าง
 

บทความที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียง

นับว่าเป็นอีกหนึ่งงานแปลของพระองค์ที่ทรงแปลไว้มากมาย ตั้งแต่บทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งประวัติบุคคลสำคัญระดับโลกค่ะ โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

  • “เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา” บทที่ ๔ เล็กดีรสโต จาก "Small is Beautiful" โดย E.F. Schumacher หน้า ๕๖-๖๓.
  • “ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า” จาก Radio Peace and Progress” ในนิตยสาร Intelligence Digest ฉบับวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘)
  • “การคืบหน้าของมาร์กซิสต์” จาก “The Maxist Advance” Special Brief
  • “รายงานตามนโยบายคอมมูนิสต์” จาก Following the Communist Line”
  • “รายงานจากลอนดอน” จาก London Report” ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๕
  • “ประเทศจีนอยู่ยง” จาก “Eternal Chinese” ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕
  • “ทัศนะน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด” จาก Surprising View from a Post-Allende Chile” ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ 
  • “เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น” จาก Sauce for the Gander….” ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕
  • “จีนแดง : ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก” จาก Red China : Drug Pushers to the World” จากนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕
  • “วีรบุรุษตามสมัยนิยม” จาก Fashion in Heroes” โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๙
  • “ฝันร้ายไม่จำจะต้องเป็นจริง” จาก “No Need for Apocalypse” ในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๕
     

แต่น่าเสียดายที่น้องๆ ไม่สามารถหาพระราชนิพนธ์ดังกล่าวมาอ่านได้ค่ะ ทั้งนี้เป็นเพราะพระองค์มิได้พระราชทานให้พิมพ์เผยแพร่ ยกเว้นเรื่อง “ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง” ที่ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พิมพ์เผยแพร่ได้ค่ะ โดยน้องๆ สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ “เพ็ญพระพิริยะเกินจะรำพัน” ของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฉบับวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ค่ะ

สำหรับพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ฝันร้ายไม่จำต้องเป็นจริง” นั้นเป็นบทความเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษในยุค ๑๙๗๕ โดยมีแฮโรลด์ วิลสันเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในตอนนั้นประเทศอังกฤษประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมาก เพราะไม่เพียงแต่ประสบปัญหาเงินเฟ้อและงบประมาณขาดดุล แต่ยังประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางการเมืองด้วยค่ะโอ้โห ปัญหาซับซ้อนมากเลย นอกจากพระองค์จะทรงแปลแล้ว ท่านยังทรงแทรกพระราชดำริกับพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ด้วยค่ะ ทำให้ผู้อ่านที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเข้าใจได้ง่ายขึ้น
 

และในส่วนของพระราชนิพนธ์ด้านวรรณกรรมนั้นก็มีทั้งงานแปลและงานที่ทรงพระอักษรเอง รวมทั้งสิ้นทั้งหมด ๖ เรื่องดังต่อไปนี้
 

วรรณกรรมทรงพระราชนิพนธ์



 

พระราชานุกิจรัชกาลที่ ๘


สำหรับพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวกิจวัตรส่วนพระองค์และพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ ๘ โดยภาษาที่ใช้นั้นอ่านง่าย กระชับและไม่งง ไม่เพียงแต่เราจะได้รู้กิจวัตรของรัชกาลที่ ๘ แล้ว แต่เรายังได้เห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัชกาลที่ ๘ กับสมเด็จย่าและสมเด็จพระราชอนุชาด้วยค่ะ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาล ๙ ได้พระราชทานในการพระราชกุศล ๑๐๐ วัน พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ค่ะ

 



(ฉบับที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชนิพนธ์)
 

เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์


นี่คือพระราชนิพนธ์เรื่องแรกของพระองค์ ลักษณะคล้ายกับบันทึกประจำวัน ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชนิพนธ์ในช่วงเวลาตั้งแต่เสด็จฯ จากประเทศไทย เพื่อไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือเป็นช่วงก่อนเดินทางจากเมืองไทยไปยังตำหนักวิลลาวัฒนา ระหว่างวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยพระราชทานให้ตีพิมพ์ในหนังสือ “วงวรรณคดี” ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นหนังสือรายเดือนค่ะ

พระองค์ได้ทรงพรรณนาความรู้สึกขณะจากเมืองไทยที่ทั้งรักทั้งผูกพันธ์และทั้งห่วงใยพสกนิกรชาวไทย และเราสามารถรับรู้ได้เพราะความรู้สึกของพระองค์นั้นสะท้อนผ่านตัวอักษรให้เราได้เห็นภาพและสะเทือนอารมณ์ตามค่ะ ดังเช่น พระราชบันทึกในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ตอนหนึ่ง

เราจะต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว…เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้แลไม่ใช่ พรุ่งนี้ตามที่กะกันไว้ตามเดิมเพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้จะ ได้มีเวลาแล่นรถช้า ๆ ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้นเมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ถวายบังคมพระบรมศพ ตอบเขาว่า “ให้เข้ามาสิ” เพราะเหตุว่าวันอาทิตย์ เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขาจะไปห้ามเสียกระไรได้ และยิ่งกว่านั้นยังเป็น วันสุดท้ายก่อน ที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าอยากเห็นราษฎรเพราะกว่าจะได้กลับ มาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก….” 
 



ขณะกำลังทรงเสด็จในวันที่ ๑๙ สิงหาคม
 

และยังมีอีกตอนหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๙ สิงหาคม เชื่อว่าพสกนิกรชาวไทยคงจำเหตุการณ์นั้นได้ดีไม่มีวันลืม... พระองค์ทรงเล่าไว้ว่า

 วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ - วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว...พอถึงเวลาก็ลงจากรถพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกตและพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียง ใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาส่งไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะละทิ้ง อย่างไรได้” แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว”

แค่พี่อ่าน... น้ำตาก็ไหลเพราะซาบซึ้งถึงพระกรุณาของพระองค์แล้วค่ะ 

 


 

พระมหาชนก


สำหรับเรื่องนี้น้องๆ ก็คงได้อ่านแล้วจากบทความของพี่หวาน พระมหาชนก วรรณกรรมจากพ่อที่เป็นยิ่งกว่าคำสอน”  ซึ่งพระองค์ได้พระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในปีพ.ศ. ๒๕๓๙ โดยที่มาของพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” นั้นเกิดจากการที่พระองค์ทรงสดับพระธรรมเสนาเรื่อง “พระมหาชนก” ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธัมมสาโร) วัดราชผาติการามในปีพ.ศ. ๒๕๒๐  หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงศึกษาค้นคว้าเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตันตปิฎก) ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ 5 ภาคที่ 2 ฉบับภาษาอังกฤษอย่างสนพระราชหฤทัย ก่อนจะทรงแปลและดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นค่ะ

หากใครที่ไม่เคยอ่าน พี่น้ำผึ้งขอแนะนำให้ไปหาอ่านนะคะเพราะว่าดีมากๆ เลยค่ะ เต็มไปด้วยข้อคิด โดยเฉพาะในเรื่อง “ความอุตสาหะ” ซึ่งพระมหาชนกนั้นมีหลายเวอร์ชั่น ไม่ว่าจะเป็นแบบอักษรเบรลล์เพื่อคนตาบอด และยังมีฉบับการ์ตูนด้วยนะคะ โดยผู้วาดภาพคือชัย ราชวัตร เพราะพระองค์มีพระราชดำริให้ใช้ลายเส้นไทยๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นไทยค่ะ

 



ทองแดง


สำหรับพระราชนิพนธ์เรื่อง “ทองแดง (The Story of Tongdaeng)” เป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ที่ติดอันดับขายดีที่สุดของประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษนั้นอยู่ในเล่มเดียวกันค่ะ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และมีฉบับการ์ตูนเรื่อง “ทองแดง ฉบับการ์ตูน” ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ค่ะ

สำหรับพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้แฝงข้อคิดที่มีคุณค่า โดยเฉพาะความกตัญญูรู้คุณของสุนัขทรงเลี้ยงอย่าง “ทองแดง” ที่ไม่เพียงแต่ติดตามถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ แต่ยังมีความจงรักภักดีและมีมารยาทอีกด้วยค่ะ

 

พระราชนิพนธ์แปล



 

ติโต


งานแปลชิ้นแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ “ติโต” ที่ทรงแปลจากหนังสือเรื่อง Tito ของฟิลลิส ออตี้ (Phyllis Auty) โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เป็นเล่นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก ซึ่งเรื่องติโตนั้นคือเรื่องจริงของนายโยซิบ โบรซ (Josif Broz) ผู้นำประเทศยูโกสลาเวีย เขาเป็นลูกชาวนาที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเพราะความดี รักชาติ รักแผ่นดิน เป็นคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตัวเองและไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจของสหภาพโซเวียต ดังที่กล่าวไว้ในหน้า ๕๙ ว่า

"ติโตเองก็มีจุดยืนที่เหนียวแน่น เขาเป็นคอมมิวนิสต์ขนานแท้ และเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดิม ซึ่งมีนโยบายให้เซอร์เบียเป็นศูนย์กลางประเทศ"

เพราะสถานการณ์ในช่วงนั้นคือมีแต่คนที่รวยสุดโต่งกับคนที่จนสุดโต่ง เขาเลยต้องการให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ติโตจึงต้องการคนทุกชาติในสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็น สโลวาเกียเซอร์เบีย, บอสเนียและเฮอเซโกวีน่า เป็นต้น กลับมารวมเป็นชาติเดียวกันอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงต่อสู้ด้วยการสร้างกองทัพใต้ดินที่เริ่มจาก ๑,๐๐๐ คน และรวบรวมคนมาเรื่อยๆ กลายเป็น ๘๐๐,๐๐๐ คน จนฮิตเลอร์ยังต้องนับถือ ในที่สุดติโตก็ชนะ

น้องๆ เชื่อไหมคะว่าอดีตผู้นำประเทศผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ ๑๒แม้ว่าจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่นั่นไม่ได้หมายความความว่าความรู้จะหยุดอยู่แค่นั้นค่ะ เพราะเขาไม่เคยหยุดขวนขวายหาความรู้เลยแม้แต่น้อย ติโตจึงถูกกล่าวขานว่าเป็นทั้งนักคิด นักรบ และนักต่อสู้เพื่อชาติ ซึ่งในหนังสือหน้าที่ ๑๒๑ ได้กล่าวไว้ว่า "เขาเป็นผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เปลี่ยนวิถีแห่งประวัติศาสตร์ในประเทศตน และผู้ได้ผนวกบทใหม่เข้าในตำนานของลัทธิคอมมิวนิสต์ตอนศตวรรษที่ยี่สิบ"  

 


 

นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ


พระราชนิพนธ์ทรงแปลลำดับที่ ๒ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๙ เรื่องนี้ได้ทรงแปลมาจากหนังสือ A Man Called Intrepid” ของวิลเลี่ยม สตีฟเวนสัน (William Stevenson) พระองค์ทรงใช้เวลาแปลทั้งสิ้น ๒ ปี ๙ เดือน กับอีก ๓ วันค่ะ แต่น้องๆ เชื่อไหมคะว่า “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” ได้วางจำหน่ายก่อนเรื่องติโตค่ะ ซึ่งได้จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖

นี่เป็นพระราชนิพนธ์แปลเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากเพราะเป็นเรื่องจริงค่ะ!! มันคือเรื่องของ “นายอินทร์” หรือ Interpid ชื่อรหัสของเซอร์วิลเลียม สตีฟเวนสัน หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการลับของประเทศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งคนๆ นี้มีบทบาทสำคัญต่อการต่อต้านแผนการร้ายของฮิตเลอร์ เขาจึงได้จัดตั้งหน่วยงานลับนี้ขึ้นเพื่อสืบค้นความลับทางทหารของเยอรมนี ก่อนจะรายงานให้แก่นายกรัฐมนตรีอังกฤษและประธานาธิบดีรูสเวลแห่งสหรัฐอเมริกา จนในที่สุดก็ต่อต้านฮิตเลอร์ได้สำเร็จค่ะ

พระราชนิพนธ์เรื่องนี้นะคะมีความยาวถึง ๖๐๐ หน้า!!! ท่านทรงใช้สำนวนภาษาที่สื่ออารมณ์แบบไทยๆ เช่น “My Lord!” ก็จะเป็น “แม่เจ้าโว้ย!” และในส่วนที่เป็นบทร้อยกรองก็จะทรงแปลเป็นบทร้อยกรองเลยค่ะ เช่น 
 

Who is the happy Warrior…   
That every man in arms would wish to be ?   
_ It is the generous spirit…   
Who, doomed to go in company with Pain,   
And Fear, and Bloodshed…   
Turns his necessity to glorious gain…   
And in himself possess his own desire…   
And therefore does not stoop, nor lie in wait   
For wealth, or honors, or for worldly state…   
And, through the heat of conflict, keeps the law   
In calmness made, and sees what he foresaw.

 

         Wordsworth
(Stevenson, William, 1976, p. 15)
 

 รบใด ใจมั่น พลันเริงร่า 
ถ้วนทหาร ปรารถนา เป็นเช่นเขา

สู้สุดฤทธิ์ ในกิจ ทั้งหนักเบา 
ยอมรับเอา ด้วยมโน อันโอฬาร์

เป็นเกลอกับ ทุกข์กล้า แสนสาหัส 
อันตราย สารพัด ไม่หน่ายหน้า

ถึงขามจิต โลหิตซับ กับพสุธา 
ใจเย็นได้ ไม่ว้า หวั่นพะวง

แลเห็นความ ลำเค็ญ เป็นประโยชน์ 
อันช่วงโชติ ชวลิต น่าพิศวง

ตั้งจิตไว้ ไม่พรั่น ด้วยมั่นคง 
และอาจอง ทะนงรัก ศักดิ์แห่งตน

ไม่ยอมลด กายใจ ให้ต่ำต้อย 
เพื่อจะคอย ตวงตัก แม้สักหน

ซึ่งยศศักดิ์ อัครฐาน ศฤงคารตน 
หมายเทิดผล คือความดี ที่ศรัทธา

กฎอันใด แม้วางไว้ ในยามสงบ 
ปองเคารพ ชูเชิด ให้เจิดจ้า

ดำเนินตาม ที่เห็นชัด ในหัทยา 
ว่าเป็นภา-ระเลิศ ประเสริฐจริง

 

เวริด์ส์เวอรธ์   
(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ, 2536, น. 37)

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับเรื่องราวที่พี่น้ำผึ้งนำมาฝากในวันนี้ พี่คิดว่าเหตุที่พระองค์ทรงเลือกวรรณกรรมเหล่านี้มาแปลเพราะอยากให้คนไทยได้ข้อคิดที่ดีผ่านทางมหาบุรุษของโลก ดังที่มีกระแสรับสั่งถึงวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ว่า "อยากให้คนไทยเห็นว่าถ้าเราทำดี เราจะไม่เป็นเหมือนเขา" ค่ะ และจากผลงานทั้งหมดของท่านก็ได้แสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม ท่านได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของนักเขียนไทยหลายๆ คน และสุดท้ายนี้... เราก็ภาคภูมิใจมากที่ได้เกิดในแผ่นดินที่มีกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่เพียงแต่ทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทย แต่ยังสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าแก่สังคม

 

พี่น้ำผึ้ง :)
 

 ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก 
เอกกษัตริย์อัจฉริยะ พรจากพ่อ ผู้เปี่ยมพระอัจฉริยภาพ
ในหลวงผู้ทรงพระอัจฉริยะภาพ 
การอภิปราย "ในหลวงของเรา” คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน Thaicoon ฉบับเดือนมกราคม 2550
http://www.culture.go.th/
http://www.moe.go.th
http://www.sac.or.th
http://www.komkid.com
https://www.gotoknow.org

 
Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Nutchla Member 27 ธ.ค. 59 16:01 น. 4

แค่อยากแชร์ประสบการณ์ (ไม่อยากอ่านข้ามเม้นได้นะค่ะ)

เป็นผู้มีความสันโดษ คำแปลในบทสวดมนต์ของพุทธศาสนา พระธรรมคำสอน หรือให้เข้าใจง่ายคือ การเป็นผู้ที่พอใจแล้ว ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเป็นทุกข์ (ฟังในธรรมมะของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) ทำให้นึกถึงคำสอนของพ่อ/ในหลวง บอกให้เราพอเพียง เราเป็นคนที่ใช้เงินชนเดือนไม่เคยมีพอเก็บชอบอ้างว่าเรียนด้วยเลยไม่มีเก็บ (เราทำงานด้วยเรียนด้วยตั้งแต่อายุ15จนตอนนี้ 26) คือถ้าจะเก็บจริงๆก็เก็บได้ แต่เราไม่เคยมีเงินเก็บเลย ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราใช้เงินไม่พอจนต้องกดบัตรเครดิต วันนึงเมื่อมาทำงานได้ไปประชุมฟังเรื่องของ อากี ที่เป็นเจ้าของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จที่สุดในฮ่องกงเมื่อ 20 ปีก่อน แล้วปัจจุบันชีวิตผกผันมาขายเป็ดพะโล้ร้านเล็ก ๆ แค่ห้องเดียว อากีบอกกับพิธีกรว่า "ถ้าเมื่อ 20 ปีก่อนได้ฟังที่ในหลวงได้ทรงพูดไว้เกี่ยวกับ ความพอเพียง การใช้ชีวิตประจำวันที่แม้แต่ยาสีฟันยังต้องใช้จนไม่เหลือ ไม่ฟุ่มเฟือย ชีวิตคงไม่เป็นแบบนี้" เรารู้สึกละอายใจ เราเป็นคนไทยแท้ ๆ ทำไมไม่นำคำสอนของพ่อ คำสอนของพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ เป็นคนไทย เป็นชาวพุทธ เรามีของดีที่ประเทศเราแท้ ๆ โกรธตัวเอง ทำไมถึงโง่อย่างนี้นะ เราร้องไห้น้ำตาไหลเป็นทางเลย แต่ไม่กล้าสะอึกสะอื้นเพราะกลัวคนอื่นเห็น  ถึงจะรู้จะอยากทำมากแค่ไหนก็สู้แรงกระตุ้นภายนอก ภายในไม่ได้ คือห้ามใจตัวเองไม่ได้ (เรื่องชักยาว แต่ที่เล่ามาก็เกี่ยวกับเรื่องพ่อ/ในหลวงของเรานะ เพื่อนเด็กดีทุกคนเอาเรื่องเล่าของเราเป็นตัวอย่างนะค่ะ) พยายามให้ได้ล่ะเด็กดีทุกคน เราก็จะสู้ ๆ ต่อไปเสียใจสู้สู้

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด