Beauty and the Beast: รักแท้หรือแค่สต็อกโฮล์ม ซินโดรม?


Beauty and the Beast
รักแท้หรือแค่สต็อกโฮล์ม ซินโดรม

 

สวัสดีชาวนักเขียนเด็กดีทุกคนค่ะ ถ้าพูดถึงหนังที่กระแสแรงมากๆ ในปีนี้ก็คงหนีไม่พ้น Beauty and the Beast โฉมงามกับเจ้าชายอสูรที่สร้างมาจากการ์ตูนอันโด่งดังของ Walt Disney ใช่มั้ยล่ะคะ แล้วน้องๆ รู้มั้ยว่าจริงๆ แล้วมีประเด็นหนึ่งจากเรื่องนี้ที่เป็นข้อถกเถียงมาเนิ่นนานหลายปีเลย หลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่าที่จริงแล้วเบลล์อาจจะไม่ได้รักเจ้าชายอสูร แต่เธอที่มีอาการทางจิตที่เรียกว่าสต็อกโฮล์ม ซินโดรม ต่างหาก และในวันนี้พี่น้ำผึ้งก็มาชวนน้องๆ คลายข้อสงสัยกันค่ะ

หลายคนอาจสงสัยว่าโรคสต็อกโฮล์ม ซินโดรมคืออะไร? ซึ่งพี่น้ำผึ้งเคยพูดถึงเกี่ยวกับโรคนี้แล้วในบทความ "สต็อกโฮล์ม ซินโดรม โรคประจำตัวนางเอกนิยายตบจูบ" น้องๆ สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่เลยค่ะ จิ้ม

สต็อกโฮล์ม ซินโดรม (Stockholm Syndrome) เป็นอาการที่เหยื่อเริ่มเห็นอกเห็นใจคนที่ลักพาตัวมา ถ้าอธิบายอย่างละเอียดก็เปรียบเสมือนกลไกการป้องกันตัวเองของสมองเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่อาจก่ออันตราย หรืออีกนัยนึงก็คือเป็นกลไกเพื่อการเอาตัวรอดนั่นเองค่ะ แต่เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ก็คือสภาพจิตที่ไม่ลงตัว นั่นคืออาการนี้ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจที่มีสติหรือมีเหตุผลในการตีสนิทกับคนร้าย ส่วนการที่เราคิดแล้วคิดอีกอย่างมีสติว่าจะเป็นเพื่อนกับคนร้าย อันนั้นไม่จัดว่าเป็นสตอกโฮล์มซินโดรมค่ะ

 



 

อยากให้น้องๆ ลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นเบลล์ นางเอกของเรื่องโฉมงามกับเจ้าชายอสูรกันก่อน ณ ตอนนั้นแล้วเมื่อเราต้องกลายมาเป็นตัวประกันของเจ้าชายอสูรซึ่งดูน่าเกลียดน่ากลัว เราควรจะทำยังไงดีนะ? ถูกต้องแล้วค่ะ การตีซี้กับเจ้าชายอสูรเลยเป็นสิ่งสุดท้ายที่เบลล์คิดจะทำ ประมาณว่าฉันไม่อยากรู้จักหมอนี่! ไม่อยากมีอะไรเกี่ยวข้องทั้งนั้น! อย่างที่เราเห็นในช่วงต้นของเรื่องว่าเจ้าชายอสูรมีท่าทีหยาบคายและโหดร้ายในตอนแรก แม้เบลล์จะกลัวมากแค่ไหน แต่ความกลัวนั้นกลับไม่ทำให้เธอยอมจำนน ดูเอาง่ายๆ ก็ตอนที่เบลล์ปฏิเสธที่จะไปดินเนอร์กับเขาอย่างหนักแน่

ตรงกันข้ามกับโรคสต็อกโฮล์มซินโดรม ที่ตัวประกันจะเริ่มมีภาวะเห็นอกเห็นใจคนร้ายจากการพึ่งพาอาศัย ความขาดสติ และไม่สามารถกระทำหรือตัดสินใจใดๆ ซึ่งถ้าเบลล์มีภาวะนี้ เบลล์จะอ่อนแอและยอมอ่อนข้อเนื่องมาจากความกลัว แต่เรายังคงเห็นได้ชัดว่าเธอมีอิสระทางอารมณ์และจิตใจมากพอที่จะหนีไปเมื่อเจ้าชายอสูรปล่อยตัว ในขณะที่ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่สามารถทำได้เพราะสภาพจิตเนื่องมาจากกลไกการป้องกันที่ทำงานอย่างรุนแรง

 


ก็ปล่อยให้อสูรรอไปสิ

 

ตอนที่เจ้าชายอสูรทำลายห้องลับทางปีกตะวันตกเป็นเหตุการณ์เดียวที่เบลล์ขาดสติและหวาดกลัวที่จะอยู่ต่อทำให้เธอตัดสินใจหนี ต่อมา เจ้าชายอสูรช่วยเธอไว้จากฝูงหมาป่า แม้ว่าภาวะขาดสติและสัญชาตญาณทำให้เธอคิดจะหนีต่อไป แต่เธอกลับใช้การตัดสินใจอย่างมีสติเพื่อช่วยเหลือโดยไม่ปล่อยให้เขาตาย ในมุมของเจ้าชายอสูร เขารู้ว่าเบลล์กำลังสับสนและขัดแย้งเพราะการเลือกช่วยเขาที่เพิ่งช่วยเธอแทนที่จะหนีไปใช้ชีวิตอิสระแบบที่เธอเคยเป็น 

จนกระทั่งตอนที่ทั้งคู่กลายมาเป็นเพื่อนกันและเริ่มรักกัน ตอนนี้แหละค่ะที่หลายคนสันนิษฐานว่าอาการสต็อกโฮล์มซินโดรมกำลังกำเริบ ซึ่งจริงๆ แล้วผิดค่ะ! เบลล์จะเป็นโรคนี้ต่อเมื่อเจ้าชายอสูรยังคงทำตัวหยาบคายกับเธอแต่เธอก็ตกหลุมรักเขา ซึ่งจริงๆ แล้วเบลล์เริ่มผูกมิตรกับเขาเพราะเขาหันมาทำตัวดีๆ กับเธอต่างหาก


 
หอสมุดในตำนาน

 

คนที่เป็นสต็อกโฮล์มซินโดรมจะรู้สึกหวั่นไหวเกินจริงกับความเมตตาเล็กๆ ของคนร้าย ซึ่งผู้ป่วยมักจะตีความว่าคนร้ายจะไม่มีทางทำดีหรือเมตตาเธอแน่ๆ เมื่อคนร้ายทำดีด้วยแค่นิดๆ หน่อยๆ ก็อาจก่อให้เกิดความชื่นชมขึ้นมาได้ ในขณะที่เบลล์ไม่ได้เป็นมิตรกับเจ้าชายอสูรเพราะเขาไว้ชีวิตเธอ (และเธอเชื่อว่าเขาสามารถฆ่าเธอได้ ซึ่งเป็นอย่างเดียวที่ผู้ป่วยสต็อกโฮล์มซินโดรมสามารถรับรู้ได้) หรือเพราะเขาช่วยเธอไว้ แต่เป็นเพราะเขาเริ่มแสดงความชอบโดยการมอบหอสมุดให้กับหนอนหนังสือที่มาจากเมืองที่มีเพียงแค่ร้านหนังสือเล็กๆ อย่างเบลล์

เบลล์รู้สึกผูกพันมากขึ้นเมื่อเจ้าชายอสูรอ่อนโยนและใจดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะกับเธอแต่รวมไปถึงบรรดาคนรับใช้ น้องๆ เองก็เห็นได้ชัดว่าเขาลดความโหดร้ายแบบที่เคยเป็นในตอนแรก และดูเหมือนชายหนุ่มที่กำลังอินเลิฟมากขึ้นใช่มั้ยล่ะคะ? ความรู้สึกที่เบลล์มีต่อเขาก็เลยสมเหตุสมผลและอยู่ในสภาวะปกติแบบที่เราตกหลุมรักคนที่ทำดีกับเราสม่ำเสมอยังไงล่ะ ในขณะที่ภาวะสต็อกโฮล์ม ซินโดรมจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด (ซึ่งก็คือคนร้าย) ตัวประกันจึงตีสนิทกับคนร้ายเพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะใช้กำลังกับเธอ ซึ่งแบบนี้ไม่จัดเป็นความสัมพันธ์ที่สมเหตุสมผลหรือธรรมดาทั่วไป

 



 

จริงๆ แล้ว เบลล์เป็นคนที่ลดอีโก้ของเจ้าชายอสูรต่างหากล่ะค่ะ เช่นในตอนที่เบลล์บอกว่า “คุณต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองบ้าง!” เป็นต้น พี่ว่าบางทีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คงเป็นตอนที่เจ้าชายอสูรยอมปล่อยเบลล์ไป และเธอก็กลับไปจริงๆ ซึ่งนั่นเป็นเพราะเบลล์ต้องการพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าความรักที่เธอมีต่อเจ้าชายอสูรไม่ได้แทนที่ความรับผิดชอบและความกตัญญูที่ลูกสาวพึงจะมี แม้เจ้าชายอสูรจะสำคัญสำหรับเธอ แต่เธอก็ไม่ได้ทิ้งหน้าที่และความรักต่อพ่อ ทางด้านความสัมพันธ์ของเธอกับเจ้าชายอสูรก็ไม่มีคำว่า “คนร้าย” และ “ตัวประกัน” แล้วด้วย

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของโรคสต็อกโฮล์ม ซินโดรมก็คือคนร้ายและตัวประกันมักจะอยู่ด้วยกันเพียงสองต่อสองโดยไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือคนที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติกับตัวประกันแตกต่างกับคนร้ายที่เธอชอบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่ตัวประกันจะเข้าใจว่านี่คือความสัมพันธ์แบบคู่รัก ซึ่งตรงกันข้ามกับในโฉมงามกับเจ้าชายอสูรที่เบลล์มีเพื่อนเป็นบรรดาคนรับใช้มากมาย และพวกเขาก็ทำดีกับเธอมาตั้งแต่แรกๆ แถมเบลล์เองก็โต้ตอบสนทนากับพวกเขาอยู่เป็นประจำทุกวัน จริงอยู่ที่เบลล์ถูกแยกตัวจากพ่อซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชีวิตเธอและยังไม่ได้ออกไปพบโลกภายนอก แต่ก่อนที่เธอจะถูกจับตัวไว้ เบลล์เองก็ไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากนักเพราะเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือนั่นเอง ถ้าลองสังเกตดีๆ เบลล์สนิทกับเพื่อนๆ ในปราสาทมากกว่าที่บ้านเกิดด้วยซ้ำ

 



 

แล้วถ้าอย่างงั้น ทำไมเบลล์ถึงไม่ตกหลุมรักลูเมียร์หรือคอกส์เวิร์ธล่ะ? ก็ถ้าเธอยังตกหลุมรักเจ้าชายอสูรได้ ทำไมถึงรักคนอื่นไม่ได้? นั่นเป็นเพราะความรักมันมากกว่าการที่เราอยู่กับใคร เมื่อเริ่มต้นจากมิตรภาพที่จริงใจและไม่มีอาการสต็อกโฮล์มซินโดรมเข้ามาเกี่ยว เมื่อทั้งสองทำดีต่อกันมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้าชายอสูรที่แทบจะเปลี่ยนจากหลังเท้าเป็นหน้ามือ การกระทำที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยความรัก (เช่นในตอนที่เจ้าชายอสูรสัมผัสผมของเบลล์อย่างอ่อนโยน) เขาไม่เพียงแค่เป็นสุภาพบุรุษที่สมบูรณ์แบบ แต่ยังเป็นคนรักที่จริงใจ แล้วยังงี้ใครจะแข็งใจไหวเนอะ?

สำหรับคนที่อ่านถึงตรงนี้แล้ว แต่ก็ยังเชื่อว่าความรักของเบลล์ไม่มีอะไรไปมากกว่าสต็อกโฮล์มซินโดรม พี่น้ำผึ้งจะลองชั่งน้ำหนักให้เห็นนะคะ อย่างแรก ผู้ชมอย่างเราๆ รู้สึกเห็นอกเห็นใจเจ้าชายอสูรมั้ย? ซึ่งผู้ชมที่ไม่ได้ถูกขังไว้แบบเบลล์ นั่นคือเรายังคงมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนในการตัดสินใจก็คงตอบว่าใช่ใช่มั้ยล่ะ ในเมื่อเรายังรู้สึกชื่นชอบ ยังรักเจ้าชายอสูรได้เลย แล้วทำไมเบลล์ที่ไม่ได้เป็นสต็อกโฮล์มซินโดรมเหมือนกันจะทำไม่ได้ล่ะคะ

 



 

ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ก็คือมันเป็นไปได้ มันไม่ผิดปกติ เบลล์ไม่ได้รักเจ้าชายอสูรเพราะสภาพจิตที่ไม่ลงตัวหรือกลไกการป้องกันตัวเอง ไม่ใช่เพราะความกลัวและความต้องการเอาตัวรอดจนขาดสติ แต่เป็นเพราะเขากลายมาเป็นคนอ่อนโยนและมอบความรักให้เธออย่างจริงใจ บทความนี้คงสามารถเป็นข้อสรุปได้ว่าโฉมงามกับเจ้าชายอสูรไม่ได้มีเรื่องของโรคสต็อกโฮล์มซินโดรมมาเกี่ยวข้องแม้แต่นิดเดียว แต่เป็นเรื่องของความรักอันบริสุทธิ์ของคนสองคนต่างหากล่ะค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะกับบทความที่พี่น้ำผึ้งนำมาฝาก หวังว่าคงสามารถไขข้อข้องใจของน้องๆ หลายคนได้เลยเนอะ ใครคิดเห็นยังไงอย่าลืมคอมเม้นต์ด้านล่างได้เลยนะคะ พี่น้ำผึ้งรออ่านความเห็นน้องๆ อยู่ ส่วนคราวหน้าพี่น้ำผึ้งจะนำอะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามกันนะคะ ^^



 


พี่น้ำผึ้ง :)

ขอบคุณรูปภาพจากภาพยนตร์และการ์ตูน
 
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

อิงผู้ฆ่าหลาม Member 8 ธ.ค. 60 22:32 น. 1

ถือเป็นการล้างมลทินให้กับนิยายเรื่องนี้นะ เพราะเราถูกปลูกฝังมาสักพักหนึ่งแล้วว่าเรื่องนี้มันเกิดจากโรค ไม่ใช่ความรัก

ซึ่งบทความนี้ทำให้เรา...ที่รักเจ้าชายอสูรตนนี้อยู่(รักมากที่สุดในบรรดาเจ้าชายดิสนีย์) ได้แน่ใจเลือกรักไม่ผิดจริงๆค่ะ ความรักจากความเห็นใจ จากเพื่อนเลื่อนมาเป็นคู่ชีวิต ซึ่งมันดีว้ากกกกกก

ปล.คิดว่าสุภาษิต ใจดีสู้เสือ เหมาะกับโรคซินโดรมนี้พอสมควรค่ะ

ปล2. เดี๋ยวจะเอาไปปรับใช้กับนาง(นาย)เอกบ้าง น่าจะใช้ได้อยู่แหละเนอะ เพราะนางก็ไม่ได้โหดขนาดน้านนน 55555

0
กำลังโหลด
พาเจีย 9 ธ.ค. 60 08:32 น. 2

พี่คะ หนูอ่านเรื่องที่พี่เขียนแล้วน่าสนใจมากเลย


หนูเลยไปหาข้อมูลมาเพิ่มค่ะ แต่ดันไปเจอบทความนี้ พี่โดนก็อปบทความไปป่าว


https://m.daily.rabbit.co.th/สตอกโฮล์มซินโดรม-นางเอก


https://m.daily.rabbit.co.th/ลิม่า-ซินโดรม-โรคพระเอก1

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด