ล้วงความลับจาก "พิน็อคคิโอ้" หุ่นไม้จอมโกหกที่สอนเราเรื่องกฏแห่งกรรม

ล้วงความลับจาก "พิน็อคคิโอ้"
หุ่นไม้จอมโกหกที่สอนเราเรื่องกฏแห่งกรรม 

"ทันทีที่เขาพูดเรื่องโกหก จมูกของเขาซึ่งค่อนข้างยาวอยู่แล้ว จะงอกขึ้นมาใหม่ทันทีอีกสองนิ้ว" ..ไม่ต้องเดากันให้ยากเลยค่ะว่าบทความนี้จะเล่าถึงนิทานเรื่องไหน สมัยเรายังเด็กเรื่องราวของ "พิน็อคคิโอ้" น่าจะเป็นนิทานเรื่องแรกๆ เลยก็ว่าได้ที่สอนให้เรารู้จักความหมายของการพูดเท็จผ่านเจ้าหุ่นไม้จอมโกหก หากใครอยากรู้ว่าเจ้าหุ่นไม้ทำวีรกรรมอะไรเอาไว้บ้าง ทีมงานนักเขียนเด็กดีได้เขียนเทียบต้นฉบับกับฉบับดิสนีย์เอาไว้แล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ พิน็อคคิโอ : หุ่นไม้จอมโกหก ตัวแทนของวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัย) โดยในบทความนี้ พี่แนนนี่เพนอยากมาเล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากพิน็อคคิโอ้จะเป็นตัวแทนของวัยรุ่นที่ชอบโกหกแล้ว นิทานเรื่องนี้ซ่อนอะไรไว้ในเจ้าหุ่นไม้จมูกยาวอีกบ้าง 

กฏแห่งกรรม : ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

แม้มิทานเรื่องการผจญภัยของพิน็อคคิโอ้ (The Adventures of Pinocchio) ที่เขียนโดย คาร์โล กอลโลดี (Carlo Collodi) จะมีต้นฉบับมาจากอิตาลี แต่นิทานเรื่องนี้ กลับสะท้อนแนวคิดเรื่องกรรมซึ่งเป็นแนวคิดที่พบในหลายศาสนาจากประเทศทั่วโลก ซึ่งเชื่อในกฏแห่งกรรมที่ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" โดยจากเนื้อเรื่องเราจะสังเกตเห็นว่าพิน็อคคิโอ้ติดอยู่ในวังวนของกฏแห่งกรรมนี้มาจากการโกหก และหลงผิดจากการหลงเชื่อหมาจิ้งจอกและแมว ทั้งนี้ในต้นฉบับเดิม ด้วยความพลั้งเผลอ พิน็อคคิโอ้ได้ฆ่าเพื่อนผู้หวังดีอย่างเจมินี่ คริกเก็ต หรือเจ้าจิ้งหรีดเขียว ด้วยการทุบอย่างโหดเหี้ยม แม้เจ้าหุ่นไม้จะรู้สึกผิดในภายหลัง แต่ผลจากการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เขาได้รับความตายในที่สุด (แม้ในฉบับดิสนีย์เขาจะได้รับการช่วยเหลือนางฟ้าก็ตาม) ทว่าพิน็อคคิโอ้ก็ไม่ได้เป็นเด็กที่ถูกย้อมด้วยสีดำไปเสียหมด เจ้าหุ่นไม้เคยช่วยสุนัขตัวหนึ่งที่กำลังจะจมน้ำ และต่อมาสุนัขตัวนั้นได้ช่วยเหลือเขาจากชาวประมง ซึ่งนี่อาจเป็นกฏแห่งกรรมที่ทำให้เราเห็นภาพของการกระทำชัดเจนที่สุด และตรงกับคำพูดของคริกเก็ตที่บอกกับเจ้าหุ่นไม้ว่า "เราควรแสดงความมีเมตตาต่อทุกคนเท่าที่เราทำได้ หากเราต้องการได้รับความเมตตากลับคืนมาอย่างเท่าเทียม" 

ทางแยกของเด็กเมื่อต้องเลือกระหว่างการคล้อยตามเพื่อนและเชื่อฟังผู้ใหญ่

น้องๆ เคยต้องเลือกระหว่างการเชื่อเพื่อนกับพ่อแม่บ้างไหมคะ พี่เชื่อว่ามีเด็กหลายๆ คนถูกหล่อหลอมให้โกหก เพราะเกรงกลัวต่อคำสอนของผู้ใหญ่อยู่มาก พิน็อคคิโอ้เองก็ถูกทดสอบด้วยสองทางเลือกเหมือนกัน หนึ่งคือเชื่อเพื่อน และสองคือเชื่อฟังผู้ใหญ่ ในนิทานเราจะเห็นว่าเจ้าหุ่นไม้ใช้ชีวิตด้วยการโกหก ไม่เชื่อฟังคำสอนของเก็พเพ็ตโต้ และนางฟ้า ทำให้เขาถูกหมาจิ้งจอกและแมวที่เขาคิดว่าเป็นเพื่อน พาชีวิตไปสู่หายนะ ซึ่งใจความสำคัญที่ทำให้เจ้าหุ่นไม้เลือกตัดสินใจ ล้วนมีผลมาจากการฟัง เขาจะเลือกอะไรก็ตามที่ทำให้ตัวเองไม่เครียด เช่น การที่เขาตัดสินใจขายหนังสือเรียนเพื่อไปดูการแสดงหุ่น เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กที่จะเลือกความสนุกมากกว่าการเรียน แต่อย่าลืมว่าเขายังเด็ก หากเขาเห็นว่าการโกหกสามารถหลบเลี่ยงบางสิ่งบางอย่างได้ เมื่อเขาทำผิด หรือทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบ การโกหกจะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ทำให้เขาหลบหนีจากความเป็นจริง และอาจทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า..

ในบางบทวิจารณ์เขียนถึงตัวละครพิน็อคคิโอ้เอาไว้ว่า เขาเป็นเด็กผู้ชายที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ขัดต่อกฏและธรรมเนียมปฏิบัติ เจ้าหุ่นไม้เป็นเด็กที่มีความเห็นแก่ตัว และขาดความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เขามักตัดสินใจโดยยึดตัวเองเป็นหลัก และดำเนินชีวิตโดยไร้ทิศทางเพราะขาดคนคอยชี้แนะ.. เมื่อลองพิจารณาจากเรื่องราวในนิทานที่เราอาจมองข้ามไป พบว่าเก็พเพ็ตโต้ที่เป็นช่างไม้ได้แกะสลักพิน็อคคิโอ้ขึ้นมา โดยลืมใส่หูให้หุ่นไม้ตัวนี้ไปด้วย ซึ่งการที่พิน็อคคิโอ้ไร้หู เราอาจตีความได้ว่าหูเป็นสัญลักษณ์ของการฟัง และการที่เจ้าหุ่นไม้ปฏิเสธที่จะเชื่อฟัง เป็นผลมาจากการที่เขาไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างถูกวิธีนั่นเอง 

อาจกล่าวได้ว่านิทานเรื่องนี้พยายามสอนเด็กให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ และแสดงให้เห็นว่าการคบเพื่อน หรือเชื่อเพื่อนมากเกินไป เป็นเสมือนกับดักที่ทำให้ชีวิตพบเจอแต่เรื่องเลวร้าย ซึ่งดูเป็นข้อคิดที่ค่อนข้างเผด็จการเหมือนกันหากจะให้นิทานเรื่องนี้สอนเด็กให้อยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว เพราะพี่คิดว่าคำสอนของผู้ใหญ่นั้นจะมีค่าต่อเด็กจริงๆ ก็ต่อเมื่อคำสอนนั้นเป็นการแนะนำ ไม่ใช่การออกคำสั่งให้ทำตาม.. 

การศึกษา คือ บทพิสูจน์การมีชีวิตที่ดี 

เราจะเห็นว่าพิน็อคคิโอ้มีตัวเลือกระหว่างการศึกษาและงานรื่นเริงอยู่เสมอ เขาหันหลังให้การศึกษา และเล่นสนุกกับเพื่อนฝูงไปวันๆ ความเกียจคร้านของเจ้าหุ่นไม้ไม่เคยพาเขาไปสู่ชีวิตที่ดี เจ้าหุ่นไม้ได้ฉายาจอมโกหกนี้มาเพราะเขาผิดสัญญากับเก็พเพ็ตโต้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาขายหนังสือเรียนเพื่อแลกกับตั๋วดูละครหุ่น จากนั้นเขาได้เจอกับหมาจิ้งจอกและแมวจอมขี้เกียจ ด้วยความโลภทำให้เขาสูญเสียเงินที่ได้จากการขายหนังสือเรียน และถูกล่อลวงให้ทำเรื่องเลวร้ายอีกหลายครั้ง จนถูกชาวบ้านจับแขวนคอให้ตายอยู่ในป่า.. จุดจบของพิน็อคคิโอ้ดูโหดร้าย แต่เมื่อพิจารณาจากสังคมในสมัยของคาร์โล กอลโลดี ผู้แต่งนิทานเรื่องนี้ จะเห็นว่าอิตาลีในช่วงนั้น กำลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยแรงงาน กอลโลดีอาจกำลังสื่อให้เด็กๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานได้เห็นว่า การศึกษามีความสำคัญมากแค่ไหน การใช้ชีวิตอยู่กับความสนุกเป็นเรื่องที่มีความสุขก็จริง แต่คนที่เลือกหันหลังให้การศึกษามักจะพบกับจุดจบที่ไม่ดีเสมอ หากพวกเขาไม่มีการศึกษา อาจถูกหลอกลวงและถูกหลอกใช้แรงงานจนตาย ซึ่งในภายหลังนิทานเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้พิน็อคคิโอ้ที่แต่เดิมมีจุดจบนอันน่าสงสาร มีนางฟ้าปรากฏตัวขึ้นมาช่วยเหลือ ดังที่เห็นในเวอร์ชั่นดิสนีย์นั่นเอง 

นิทานสำหรับเด็กไม่เคยสอนแค่เด็กจริงๆ เราจะเห็นว่านิทานเรื่องนี้อาจมีแก่นเรื่องหลักอยู่ที่การโกหกเป็นหลัก แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของเจ้าหุ่นไม้จอมโกหกนี้ คือ เรื่องราวของการดำเนินชีวิต และการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง การโกหกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงความผิด และสิ่งที่ไม่อยากทำเท่านั้น ซึ่งในสามหัวข้อที่พี่ยกมานี้ มีความเกี่ยวเนื่องกันหมด ตั้งแต่การโกหกว่าจะไปเรียนแต่สุดท้ายก็หนีไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนจนเกิดเรื่องราวต่างๆ ตามมาอีกมาย ทำให้เรารู้ได้รู้ว่ากว่าเด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ ก็มีช่วงที่เจ็บปวดทางใจเยอะเหมือนกัน หากใครมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจอยากเล่าสู่กัน อย่าลืมคอมเมนต์ให้เพื่อนๆ ชาวเด็กดีได้อ่านกันด้วยนะคะ รออ่านอยู่นะ ^^ 

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 
https://www.shmoop.com/pinocchio/analysis.html
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Adventures_of_Pinocchio
https://www.imdb.com/title/tt0032910/
https://curr538theadventuresofpinocchio.weebly.com/themes--motifs.html

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น