คำเตือน - มีการเปิดเผยเนื้อหาในหนัง 
 

หลายคนที่ได้ดูหนังเรื่อง Parasite (2019) หรือชื่อไทยว่า ชนชั้นปรสิต นอกจากจะเห็นการเสียดสีชนชั้นทางสังคมอย่างเจ็บแสบแล้ว สัญลักษณ์อย่างก้อนหิน กลิ่นสาบ และประโยคเด็ดๆ อย่าง "คนรวยนิสัยดีเพราะมีเงิน" ก็เป็นหนึ่งในความจริงของสังคมที่ถูกตีแผ่ออกมาได้อย่างจริงใจที่สุด ทว่ายังมีอีกชนชั้นหนึ่งซึ่งก็คือ "ชนชั้นทางเพศ" ที่ไม่ได้ถูกพูดถึงกันสักเท่าไหร่ เป็นชนชั้นที่เรารู้จักกันดีจนกลายเป็นความชินชา และกลายเป็นภาพจำที่ไม่อาจลบล้างออกไปได้ง่ายๆ 

การแบ่งแยกชนชั้นทางเพศใน Parasite เป็นสภาพสังคมปกติที่ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ บงจุนโฮ นำมาเสนอความเป็นอยู่ของครอบครัวที่แม้จะต่างชนชั้น แต่เหมือนกันตรงที่เพศชายคือผู้นำครอบครัว และเพศหญิงเป็นผู้ตามที่ดี เป็นไปตามสภาพจริงของสังคมเกาหลีใต้ ที่ต่อให้ต่างชนชั้นกันอย่างไร แต่ชนชั้นที่อยู่ต่ำที่สุดยังคงเป็นชนชั้นทางเพศเสมอ 

แม้ในปีที่ผ่านมากระแส #MeToo จะกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมเกาหลีใต้ จนมีคนออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศอย่างรุนแรง แต่ท้ายที่สุดก็เกิดกระแสต่อต้านกลับอย่างรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากสังคมเกาหลีใต้ยังมีความอนุรักษ์นิยมอยู่มาก ความเท่าเทียมทางเพศ และชนชั้นปกครอง ยังต้องเป็นไปตามปรัชญาลัทธิขงจื้อที่ถือว่า "ผู้ชายเป็นตัวแทนแห่งสวรรค์ (ฟ้า) และเป็นสิ่งที่สูงส่งที่สุดเหนือกว่าทุกๆ สิ่ง ผู้หญิงจะต้องยอมเชื่อฟังสถาบันของผู้ชาย และช่วยเขาดำเนินหลักการต่างๆ ของเขาให้สำเร็จ" หนังเรื่อง Parasite จึงเป็นหนังที่พาเราไปรู้จักสังคมเกาหลีใต้อย่างแท้จริง 
 

ก่อนอื่นขอเล่าก่อนว่า Parasite เป็นหนังที่เล่าถึงความต่างชนชั้นระหว่างครอบครัวคนจนกับครอบครัวคนรวย ซึ่งทั้งสองครอบครัวต่างมีลูกชาย และลูกสาวเหมือนกัน หนังเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึง "ครอบครัวตระกูลคิม" ที่มีฐานะยากจน อาศัยอยู่ในชั้นใต้ดินรกๆ สมาชิกในครอบครัวต่างไม่มีงานทำ ต้องรับงานพับกล่องพิซซ่าเป็นรายได้ของครอบครัว จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกชายคนโตของครอบครัวคิมถูกเพื่อนสนิทชวนไปทำงานเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษให้ลูกสาวคนโตของ "ครอบครัวพัค" เขาจึงให้น้องสาวปลอมเอกสารการเรียน และปิดบังตัวตนเพื่อให้ได้งานทำ 

เมื่อได้เข้าไปทำงาน ชายหนุ่มเห็นช่องทางที่จะทำให้ครอบครัวอยู่รอด จึงให้น้องสาวที่เรียนไม่จบเหมือนกันปลอมตัวเป็นครูศิลปะสวมรอยเป็นนักเรียนนอก มารับจ้างดูแลลูกชายคนเล็กของครอบครัวพัค จากนั้นสองพี่น้องก็ค่อยๆ วางแผนทำให้พ่อเข้ามาเป็นคนขับรถ และให้แม่เข้ามาเป็นแม่บ้าน โดยใช้วิธีไร้ศีลธรรมใส่ร้ายคนขับรถเดิม และแม่บ้านคนก่อนจนถูกจ้างออก จากนั้น ทั้งสองครอบครัวที่ฐานะแตกต่างกันสุดขั้ว ก็ได้เจอเรื่องราวที่เป็นดั่งฝันร้าย และเป็นตลกร้ายของสังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งชนชั้น 

ซึ่งก่อนที่เราจะไปคุยกันเรื่องประเด็น "ชนชั้นทางเพศ" อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อลูกชายและลูกสาวของตระกูลคิมต่างเป็นคนมีความสามารถ คนหนึ่งสามารถเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษให้กับเด็กมัธยมได้ ส่วนอีกคนสามารถสวมรอยเป็นครูศิลปะและดูแลเด็กเล็กให้เชื่อฟังได้ ทำไมพวกเขาถึงไม่หางานดีๆ ทำ หรือไปเรียนต่อเพื่อต่อยอดชีวิตให้ดีกว่าเดิม นั่นเพราะสองพี่น้องตระกูลคิมอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน อยู่บนโลกความจริงที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม แม้จะมีความสามารถ แต่ไม่มีโอกาส ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะหลุดพ้นจากความจนที่เป็นอยู่ คล้ายกับความเชื่อของคนไทยหลายๆ คน ที่เชื่อว่าการมีใบปริญญาคือความสำเร็จ และโอกาสของชีวิต หากอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นต้องเรียนจบสูงๆ หรือทำงานราชการเท่านั้น สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวของชนชั้น ฐานะ และโอกาส ที่ครอบครัวฐานะร่ำรวยไม่จำเป็นต้องกังวล ไม่ต้องถีบตัวเองสู่ความสำเร็จ ต่างกับครอบครัวฐานะยากจนที่ต้องไขว่คว้าหาโอกาส เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม..
 

อย่างที่ได้เล่าไปว่าเมื่อชนชั้นทางสังคมไม่เท่ากัน โอกาสทางสังคมย่อมแตกต่างกัน ถ้าคุณคิดว่าสังคมมาถึงจุดที่แย่แล้ว ยังมีจุดที่แย่ยิ่งกว่าเสียอีก มันคือ ปัญหาการแบ่งชนชั้นทางเพศ ที่สืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนาน เป็นระบบพ่อปกครองลูกที่แทรกซึมเข้ามาในเกาหลีใต้ผ่านปรัชญาลัทธิขงจื้อว่าด้วยเรื่องตัวแทนแห่งสวรรค์ และบทบาทของสตรีภายใต้กฎแห่งการเชื่อฟังที่ว่า เมื่อเธอยังเด็ก เธอต้องเชื่อฟังบิดาและพี่ชาย เมื่อแต่งงานแล้ว เธอต้องเชื่อฟังสามี เมื่อสามีของเธอตาย เธอต้องเชื่อฟังบุตรชายของเธอ นอกจากนี้ ผู้หญิงในอุดมคติของลัทธิขงจื้อต้องเป็นผู้หญิงที่มีความเป็นแม่ศรีเรือน เอาใจใส่ดูแลครอบครัว สามี และลูก ซึ่งความเชื่อตามคติดังกล่าว สอดคล้องกับสภาพสังคมเกาหลีใต้ที่ถูกนำเสนอผ่านหนังเรื่อง Parasite 
 

จุดสังเกตแรกที่ผู้ชมอาจจะมองข้ามไปคือ การเป็นแม่บ้านของคุณนายพัค ที่แม้จะมีแม่บ้านจริงๆ คอยช่วยเหลือทุกอย่าง แต่เธอก็เป็นภรรยาสาวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน คอยดูแล และจัดการทุกอย่างตามที่สามีต้องการ โอนอ่อนตามสามี และไม่พยายามทำให้สามีต้องขุ่นข้องหมองใจ ซึ่งตัวอย่างในหนังมีให้เห็นหลายฉากเลยค่ะ เช่น ฉากที่สามีเจอกางเกงในบนรถ (ที่ถูกจัดฉากโดยครอบครัวตระกูลคิม) เขาให้ภรรยาเป็นคนจัดการไล่คนขับรถออกไป และให้เธอช่วยหาคนขับรถคนใหม่, ฉากที่คุณนายพัคกลัวสามีรู้ว่าจ้างแม่บ้านที่ป่วยเป็นวัณโรคมาทำงาน จึงวางแผนปิดบัง และจ้างแม่บ้านคนใหม่ตามที่ได้รับคำแนะนำจากคนขับรถคิม เป็นต้น 

เมื่ออ้างอิงจากแบบเรียนเพศศึกษาของเกาหลีใต้ที่เคยอื้อฉาวมาก่อน พบว่าคนในสังคมต่างถูกปลูกฝังค่านิยมที่ส่งเสริมระบบชายเป็นใหญ่ เช่น “ผู้ชายต้องหาเงินให้เยอะ ส่วนผู้หญิงต้องทำตัวให้สวยเข้าไว้” ทั้งยังมีการแนะนำอีกว่า “ในเมื่อผู้ชายต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่อเดตผู้หญิงสักคน มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เขาควรจะได้รับผลตอบแทนจากเงินที่เสียไป ยกตัวอย่างเช่น การข่มขืนแม้ว่าจะไม่เต็มใจก็ตาม” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เปิดหลักสูตร 'Sex Education' ในเกาหลี ที่ไม่สอนป้องกันแต่ปลูกฝังการแบ่งแยกเพศ! ) จะเห็นได้ว่าค่านิยมที่ถูกปลูกฝังผ่านแผนการเรียนนั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด "คุณนายพัค" ที่จำเป็นต้องเชื่อฟังสามี และมีเพศสัมพันธ์กันโดยมีข้อแลกเปลี่ยน 

นอกจากนี้ ยังมีฉากที่คนขับรถคิมถามเรื่องส่วนตัวกับคุณพัคบ่อยๆ ทำนองว่า "คุณคงรักภรรยามากนะครับ" แล้วคุณพัคมีท่าทีแปลกใจ ไม่ได้ตอบคำถามตรงๆ อาจตีความได้ว่า เรื่องทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่ความรัก แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างจำเป็นต้องทำตามบทบาทและหน้าที่ คุณพัคเป็นสามีที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านตลอดทั้งวัน ส่วนคุณนายพัคเป็นภรรยาที่ต้องอยู่บ้าน คอยดูแลจัดการงานบ้านแทบทุกอย่าง ครอบครัวพัคจึงเป็นผลผลิตจากระบบชายเป็นใหญ่ และเป็นไปตามปรัชญาลัทธิขงจื้อ 

ต่อมาเป็นเรื่องการรักลูกชายมากกว่าลูกสาว ครอบครัวพัคละเลย และขาดการดูแลเอาใจใส่ลูกสาวเป็นอย่างมาก พวกเขาตามใจลูกชายคนเล็กแทบทุกอย่าง เช่น คุณพัคมักเข้าไปพูดคุย และเล่นกับลูกชายคนเล็กเสมอ พวกเขาตามใจลูกชายคนเล็กแทบทุกอย่าง แม้แต่ตอนไปตั้งแคมป์ตากฝนที่สนามหญ้า คุณพัคและคุณนายพัคก็มานอนเฝ้าไม่ให้ห่างสายตา กลับกันกับลูกสาวคนโตเป็นอย่างมาก แม้แต่การถามไถ่ความเป็นไปในชีวิตแทบจะไม่มี พวกเขาไม่รับฟังความเห็นของเธอ และห่วงแต่ลูกชายคนเล็กว่าหิวไหม โดยไม่ถามลูกสาวคนโตเลยว่าอยากกินข้าวไหม ทั้งๆ ที่เธอก็หิวเหมือนกัน

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ชมหลายคนสงสัยว่าทำไมลูกสาวครอบครัวพัคถึงตกหลุมรักลูกชายครอบครัวคิม อาจเป็นเพราะว่าเธอรู้สึกเหมือนเป็นคนสำคัญ จากที่ไม่มีตัวตนในสายตาของคนในบ้าน กลับมีตัวตนในสายตาของชายหนุ่มที่มาสอนพิเศษ ซึ่งความรักของเด็กสาวได้แสดงออกผ่านการที่เธอแบกลูกชายครอบครัวคิมที่โดนทำร้ายออกจากบ้านเพียงตัวคนเดียวนั่นเอง 

ทางฝั่งครอบครัวคิมก็มีการรักลูกชายมากกว่าลูกสาวเหมือนกัน มีฉากหนึ่งที่ครอบครัวคิมไปทานข้าวในโรงอาหารคนขับรถ เพื่อวางแผนให้คนพ่อเข้าไปเป็นคนขับรถในครอบครัวพัค คุณคิมแบ่งอาหารจากจานของตัวเองซึ่งมีแต่ของดีๆ ให้ลูกชายเพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่ลูกสาวก็มีส่วนช่วยในแผนการนี้เหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีฉากที่ลูกสาวครอบครัวคิมพูดประโยคหนึ่งออกมาตอนที่เธอเมาว่า "สนใจแต่คนอื่น สนใจหนูบ้างสิ" ซึ่งประโยคดังกล่าวสามารถตีความได้ว่า เธอเองก็อยากได้รับความสนใจ และความเป็นห่วงเป็นใยจากพ่อเหมือนกัน 


นี่คือเรื่องราวของระบบชนชั้นในสังคมเกาหลีใต้ ที่แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ แต่เป็นฐานรากที่มีความมั่นคง เกาะยึดระบบชายเป็นใหญ่ และสืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนานจนยากที่ขจัดออกไป ซึ่งพี่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้ผู้กำกับบงจุนโฮ ต้องการถ่ายทอดความเป็นจริงของสังคมเกาหลีใต้ หรือเป็นสภาพปกติที่ฝังรากอยู่ในการดำเนินชีวิต ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะถ่ายทอดออกมาด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งที่เห็นชัดและสะท้อนออกมาจาก Parasite ก็คือความแตกต่างทางชนชั้น ที่แม้จะต่างฐานะแต่ก็เหมือนกันที่ผู้หญิงไม่เคยเท่าเทียมผู้ชาย.. และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานตราบเท่าที่ยังมีการสืบทอดอำนาจต่อไป 
 

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

https://www.imdb.com/title/tt6751668/mediaindex?ref_=tt_pv_mi_sm

http://center.bkkthon.ac.th/journal/upload/doc/spit/6/files/2.pdf

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น