ส่องชีวิตเด็ก ป.เอกควบศิริราชฯ-ม.คยองบุก ม.รัฐอันดับ1ในเกาหลีใต้ (รีวิวแทกู,วัฒนธรรม ฯลฯ)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึงด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี 'เกาหลีใต้' ถือเป็นประเทศที่ไม่เคยหยุดพัฒนาเลยค่ะ เหตุผลหลักๆ ก็มาจากการที่ภาครัฐสนับสนุนและทุ่มงบเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างเต็มที่  แล้วยังมีทุนมากมายที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาเรียนและทำวิจัยในเกาหลีมากขึ้น ทั้งได้สร้างความหลากหลาย เผยแพร่วัฒนธรรม และเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศด้วย

วันก่อนเรามีโอกาสได้คุยกับ 'พี่เต้ย - อรรถพล เพิ่มพูน'  คนไทยที่เพิ่งเรียนจบจากโครงการปริญญาเอกร่วม (dual-Ph.D. degree program) ระหว่างภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กับภาควิชาชีวะเคมี คณะแพทยศาสตร์ ม.คยองบุก Kyungpook National University (KNU) ของเกาหลีใต้ แน่นอนว่าไม่ง่ายแต่น่าสนใจมาก ได้สัมผัสจุดเด่นด้านการศึกษาของทั้ง 2 ประเทศ  เรียนเป็นภาคอินเตอร์ จบมาได้ปริญญา 2 ใบ และมีของแถมเป็นการเปิดโลกกว้างในประเทศแห่งนวัตกรรม // อยู่ในเอเชียเหมือนกันก็จริง แต่วัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติต่างสุดขั้วค่ะ!

เล่าเกี่ยวกับโครงการนี้
Siriraj x KNU

“พี่จบ ป.ตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล แล้วไปสมัคร ป.โท ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทย์ศิริราชฯ ม.มหิดล เงื่อนไขคือถ้าได้เกียรตินิยมอันดับ 1 จะสามารถข้ามจาก ป.โทไปเอกได้ (จริงๆ เป็นลักษณะควบรวมมากกว่า) ระยะเวลาเรียน 5-8 ปี  เพราะปกติวิทยานิพนธ์ ป.เอกใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีอยู่แล้ว"

"แล้วพี่ก็ได้เข้าร่วมโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ กับ KNU  ผู้เข้าร่วมจะมีสถานะเป็นนักศึกษา 2 มหาวิทยาลัยพร้อมๆ กัน โดยจะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทั้งสองที่ โดยเฉพาะที่เกาหลีจะสนับสนุนเงินรายเดือนให้ด้วย"

KNU คือมหาวิทยาลัยรัฐอันดับ 1 ของประเทศ มีประวัติยาวนานนับร้อยปี นานพอๆ กับศิริราชฯ แล้วยังเริ่มก่อตั้งจากการเป็น ม.แพทย์เหมือนกันด้วย โลเคชันอยู่ใจกลางเมืองแทกู (Daegu) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ สิ่งอำนวยความสะดวกครบ มีหลายคณะที่โดดเด่น เช่น วิศวะและไอที ซึ่งคณะไอทีติด Top3 ของประเทศ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Samsung คือศิษย์เก่าของที่นี่

สลับโหมดเรียนและทำวิจัย
ที่ไหนเน้นอะไร? เนื้อหาต่อเนื่องกันมั้ย?

ไทย : ภาควิทยาภูมิคุ้มกัน (Immonology) / ศิริราชฯ 
เรียน Coursework ให้จบในปีครึ่งก่อนไปเกาหลี

"ปี 1 เลกเชอร์หนักมาก หนักแบบถ้าผ่านไปได้จะแกร่งมาก แทบจะเอาความหนักของปี 3 และปี 4 มาบวกกันแล้วคูณไปอีก ต้องอาศัยความใจรัก แต่ Coursework นี่แหละคือจุดเด่นของศิริราชฯ เพราะเรียนเน้นตรงจุด อัดแน่นให้พร้อมใช้ ช่วยตอนวิจัยได้เยอะมาก แล้วทำให้ปรับตัวกับการเรียนที่เกาหลีได้ง่ายขึ้นด้วยครับ หลักสูตรนี้ออกแบบมาให้เราเป็นนักวิจัยที่ดีในอนาคต แล้วพอขึ้นปี 2 จะเน้นไปทางชีวิตนักวิจัยมากกว่า"

เกาหลี :  ภาคชีววิทยาเคมี (Biochemisty) / KNU
Coursework + ทำวิจัย

"พอมาเกาหลีจะต่างมาก เพราะเน้นการนำไปใช้ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เทอมแรกที่นี่จะได้ทำวิจัยเป็นหลัก ไปแล็บทุกวันจันทร์-ศุกร์ 9.00-18.00 น. ตรงเวลา หรือบางช่วงก็กลับดึกกว่าปกติ ตารางชีวิตเหมือนคนทำงานออฟฟิศทั่วไป แต่แล็บพี่ใจดีแล้วที่ไม่ได้ให้มาวันเสาร์ด้วย บางแล็บนี่ต่อให้ไม่มีทดลองหรือทำงานอะไรก็ต้องมา แล้วอยู่ยาวๆ ถึง 2 ทุ่ม 4 ทุ่มนู่นเลย"

"เล่าคร่าวๆ คือพี่ทำวิจัยเกี่ยวกับการคิดค้นและพัฒนาสายเปปไทด์ (เปปไทด์ = โมเลกุลเล็กสุดของโปรตีน) เพื่อไปจับจำเพาะกับเซลล์มะเร็งให้มากเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดผลข้างเคียงต่อเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย เพราะวิธีการทำคีโมแบบดั้งเดิมก็จะมีผลข้างเคียงสูง" 

"โดยทั่วไปการทำวิจัยแนวนี้ต้องเริ่มทดลองในระดับเซลล์ > สัตว์ทดลองขนาดเล็ก > ขนาดกลาง > ขนาดใหญ่ > ทดลองในคน แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้มันยากมากก และใช้เวลานานด้วย สมมติว่างานแต่ละขั้นผ่านไปด้วยดีก็จะสามารถทำวิจัยร่วมกับบริษัทผลิตยาเพื่อตรวจสอบผลลัพธ์และเจรจาเรื่องลิขสิทธิ์ครับ"

"การวิจัยไม่ได้การันตีว่าทำงานหนักแล้วจะได้ผลดี ต่อให้ออกแบบการทดลองดีแค่ไหน พอลองมือทำจริงก็มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ไม่ได้ผลที่ต้องการ แต่สิ่งที่สำคัญสุดและเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของการเรียน ป.เอก คือเราได้รู้ว่า ‘เราไม่รู้อะไร' และเราจะรู้ได้อย่างไร  อันนี้ก็เป็น Key ของการพัฒนาตัวเองด้วย เราต้องรู้ว่าเราไม่เก่งอะไร แล้วจะพัฒนาต่อยังไงบ้าง”

.......
 

“นอกจากแล็บก็จะมี Coursework อีกแบบเบาๆ สักช่วง 5 โมงเย็นถึงทุ่ม 2 ทุ่มเพื่อไม่ให้เบียดเวลาทำแล็บ ตัวเนื้อหาจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่คนละมุม และเชื่อมโยงกัน"

  • ตอนอยู่ไทย = ภาควิทยาภูมิคุ้มกัน (Immonology) เรียนการต่อต้านเชื้อโรคของร่างกาย เช่น เรื่องมะเร็ง หรืออย่างเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมี action ยังไงบ้าง 
     
  • ตอนอยู่เกาหลี = ภาคชีววิทยาเคมี (Biochemistry) กลไกการทำงานของเซลล์ในระดับโมเลกุล ซึ่งลงลึกกว่า กระบวนการสังเคราะห์สารต่างๆ หรือเวลาเซลล์เจอตัวกระตุ้นจะตอบสนองยังไงบ้าง

"ข้อดีคือที่เกาหลี อาจารย์กับนักศึกษาได้คุยงานกันเยอะ กดดันกว่า เข้มงวด ความคาดหวังสูง ทุกวันพุธต้องมี meeting คุยเป็นกลุ่มทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องทุกคนในแล็บ พรีเซนต์ powerpoint แล้วดิสคัสกันว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามีทำอะไรบ้าง // แอบกดดันว่า เอ๊ะ เราทำมาพอมั้ย ดีแค่ไหนแล้ว อาจารย์จะมีให้โชว์ Negative Result ด้วย"

ทำวิจัยเรื่องเดียว 2 ฉบับ
แพตเทิร์นต่าง /  สอบ defense แยกกัน

"สิ่งที่จะทำให้จบ ป.เอกได้คือเรียน Coursework ให้ครบ + ได้เกรดเฉลี่ยตามเกณฑ์  + วิจัยได้ตีพิมพ์งานระดับนานาชาติ (Journal)  ถ้าไม่มีก็พิสูจน์ไม่ได้ว่างานเรามีคุณภาพและได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน อย่างแรกต้องพิจารณาเพื่อส่งสำนักพิมพ์ที่มีให้เลือกเป็นร้อย มีบรรณาธิการเช็กรายละเอียดว่าโอเคมั้ย เข้ากับวารสารของเขารึเปล่า แล้วยังผู้เชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวกับงานของเราอีก 3-5 คนมารีวิว // กว่าจะได้ตีพิมพ์ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพหลายขั้นตอนมากกก"

"แล้วในเมื่อเป็นหลักสูตรควบ 2 มหา'ลัย ก็เลยต้องทำวิทยานิพนธ์ 2 ชุด พี่สามารถทำวิจัยเรื่องเดียวแล้วใช้กับทั้งไทยและเกาหลีได้ แต่แพตเทิร์นรูปเล่มจะต่างกัน และต้องสอบวิทยานิพนธ์ defense แยกกันด้วย อย่างช่วงก่อนโควิดจะระบาดพี่ก็มีกลับไทยไปสอบ defense ให้ผ่านก่อน รอตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการอย่างน้อย 1 ฉบับถึงจะจบของฝั่งไทย พออีกเทอมพี่ก็มาสอบที่เกาหลีอีกรอบนึง"

.......

ใครอยากศึกษาเกี่ยวกับ dual-PhD degree program 
ลองดูที่โพสต์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ :)

ได้ซึมซับทั้ง 2 ภาษาในหลักสูตรเดียว
(แชร์วิธีฝึกฝนและเอาตัวรอด)

ตอนอยู่ไทย : เรียนเป็นภาษาอังกฤษทุกวัน

"ถึงในห้องที่มีแต่คนไทย แต่ก็เป็นหลักสูตรอินเตอร์ที่ต้องพูดภาษาอังกฤษเท่านั้น พี่คอนเฟิร์มว่าถ้าเรียน ป.โทและเอกที่ศิริราชฯ มหิดล ทุกคนจะภาษาอังกฤษแน่น ได้ใช้ทุกวัน ซึ่งตอนแรกพี่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเลยยย ไม่ชอบด้วย แต่มันดีตรงที่ต้องจำใจเรียน พยายามกล้าพูดกล้าใช้เพื่อสร้างความคุ้นเคย พอนานเข้าก็ปรับตัวได้"

คำแนะนำ "ถ้าเกิดเรียนแบบแปลๆ มากเกินไป เวลาพูดแต่ละทีจะติดการคิดเป็นภาษาไทยในหัวแล้วค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกสเตป พี่เลยอยากให้เด็กไทยเรียนด้วยความเข้าใจมากกว่าว่าประโยคนี้ใช้ยังไง และใช้ในบริบทไหนบ้าง ซึ่งการจะทำได้แบบนั้นต้องอาศัยคลังศัพท์ที่เพียงพอและความเข้าใจบริบท วิธีที่ได้ผลสำหรับพี่คือการดูหนังดูซีรีส์ให้คุ้นชินกับ dialog  เปิดซับภาษาอังกฤษให้รู้ว่าประโยคนี้ใช้ยังไง ออกเสียงยังไงบ้าง อาจเริ่มจากเรื่อง Harry Potter ก็ได้ เพราะเป็นนวนิยายสำหรับเด็ก แฮร์รี่กับเฮอร์ไมโอนี่พูดบริทิชจ๋ามากกก หรืออีกเรื่องที่อยากแนะนำคือ Sex Education ครับ"

ตอนอยู่เกาหลี : เจอสไลด์ภาษาอังกฤษ และครูพูดภาษาเกาหลี!

"ตอนแรกคนที่มาเรียนก็คงไม่คาดคิดเหมือนกันว่าเจอแบบนี้ พี่เองก็มาด้วยภาษาเกาหลีระดับพื้นฐาน ถ้าเป็น Coursework ก็จะไม่ลึกมาก ศึกษาด้วยตัวเองได้อยู่ โชคดีที่เพื่อนร่วมคลาสเกาหลีช่วยเราดีมากกก  ถ้าเค้าคิดว่าตรงไหนสำคัญก็จะช่วยเน้นติวให้ บอกเลยผ่านมาได้เพราะเพื่อน 5555 อีกอย่างดีตรงที่เป็นสายวิทย์ เพราะเลกเชอร์สายวิทย์ศัพท์จะเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว"

ผ่านมา 4 ปีครึ่ง พัฒนาการภาษาเป็นยังไงบ้าง? “ดีขึ้น แต่พี่ไม่ได้ตั้งใจมาเพื่อเรียนภาษาขนาดนั้น ไม่ได้ขวนขวายหนัก เวลาดูซีรีส์ยังต้องอ่านซับไทยซับภาษาอังกฤษ การพูดพี่ยังได้แค่เบสิก เอาตัวรอดได้ แต่การฟังคือแม่น เข้าใจภาพรวมว่าจะสื่ออะไร ข้อดีของคนเกาหลีอย่างนึงคือเวลาพูดจะชอบแสดงสีหน้ากับกับท่าทางประกอบ ถ้าเราจับใจความได้นิดหน่อยก็จะพอเดาจากภาษากายได้"

“แต่ถ้าเค้าถามกลับปุ๊บพี่จะงง พี่อาจจะบอกตรงๆ ว่าไม่เข้าใจจจ เพราะกลัวตอบผิดแล้วมีผลกับชีวิต 5555  บางทีก็ให้เพื่อนช่วยบ้างครับ อีกอย่างคือแอปฯ ส่วนใหญ่เป็นภาษาเกาหลีนะ ควรได้ระดับพื้นฐานเพื่อให้เอาตัวรอดได้  แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีการแปลภาษาทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นจริงๆ (ถ้าจะคุยกับคนมีอายุหน่อยอาจต้องมั่นใจในภาษาเกาหลี เพราะเค้าพูดภาษาอังกฤษกับเราไม่ได้)

.......

Congratulations!!! ก่อนจะจบพาร์ตชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย พี่เต้ยอยากทิ้งท้ายว่า "ทุกความสำเร็จของเราจะมีคนอื่นอยู่เบื้องหลังเสมอ ขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.นพ. ปีติ ธุวจิตต์ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ศ.ดร.นพ. เบียงฮอน ลี (Byungheon Lee) คณะแพทยศาสตร์ ม.คยองบุก สำหรับคำแนะนำสั่งสอน รวมถึงองค์ความรู้ และพิเศษสุดคือโอกาสในการเข้าร่วมโครงการนี้ บอกได้เลยว่า พี่จะไม่สามารถมีวันนี้ได้เลยถ้าขาดอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ไป ตลอดเวลาหกปีกว่าสำหรับการเรียนป.เอก อุปสรรคมากมาย ผ่านมาได้ก็เพราะการสนับสนุนและกำลังใจจากอาจารย์ เพื่อนๆ รุ่นพี่ รวมถึงครอบครัว ยิ่งเราโตมากแค่ไหน เราก็ยิ่งต้องไม่ลืมตัว อ่อนนอม ถ่อมตน และไม่ลืมผู้มีพระคุณทุกท่านครับ"

.......

ระบบความปลอดภัยในเกาหลี

"ถ้าพูดเรื่องความสะดวกปลอดภัยในเกาหลี เล่าได้หลายมุมมาก อย่างเช่นระบบเตือนภัย (Emergency Alert) มือถือพี่เด้งแจ้งเตือนทุกวัน วันละ 3-4 เวลา ถ้าไม่ปิดเสียงดังยังกับไฟฟ้าจนคนที่นี่ตั้งมือถือเป็นระบบสั่นกันหมดแล้ว เตือนทุกอย่างที่นางอยากเตือนเลย จะภัยพิบัติ ลมแรง ฝุ่นเกินค่า มีเหตุระเบิด หรือแม้แต่อัปเดตผู้ติดเชื้อทุกเช้าเย็น ฯลฯ อย่างช่วงนี้ (อัปเดตข้อมูล ก.ค.64) ก็จะเด้งเรื่องโควิดไป 99% แล้วที่เจ๋งคือเปลี่ยนสถานที่ด้วยนะ แบบถ้าไปอยู่เมืองไหนจะเด้งเตือนสิ่งที่เกิดขึ้นเมืองนั้นเฉพาะเลย"

ขนาดช่วงที่วิกฤติหนักที่แทกู (Daegu) พี่อยู่เมืองนี้แต่ยังรู้สึกอุ่นใจเลย เพราะไม่ใช่แค่เทคโนโลยีกับมาตรการรับมือที่เกิดขึ้นมาแบบทันท่วงที รัฐบาลยังให้ความรู้และข่าวสารแก่ประชาชนอย่างถูกต้องและแม่นยำด้วย ทำให้ประชาชนไม่สับสน fake news ทุกคนสามารถฟังและเชื่อรัฐบาลได้จริงๆ *พี่ว่าข้อนี้สำคัญมาก*

การใช้ชีวิตปกติแต่ละวันก็เหมือนกัน ที่เกาหลีมีกล้องวงจรปิด (CCTV) เยอะมาก มีทุกที่ ร้านสะดวกซื้อก็มี เขาจะชอบตั้งไว้หน้าร้านหรือตามตู้ไอศกรีม ไม่ต้องกลัวมีคนขโมย และตามบ้านหรือหอพักส่วนใหญ่ไม่ต้องพกกุญแจ เพราะเขาจะใช้ระบบพาสเวิร์ดหรือสแกนนิ้วมือ สแกนหลังมือยังมีเลย

ที่เกาหลีเราต้องซื้อซิมลงทะเบียน 100% และทุกอย่างโยงกับเบอร์มือถือเราหมด โดยจะมีแอปพลิเคชันแช็ตชื่อ 'KakaoTalk' ที่พัฒนาด้านบริการไปไกลมาก รวมทุกอย่างไว้ไม่ต้องสับสน เช่น

  1. ใช้ติดตาม เช่น เวลาไปร้านอาหาร/คาเฟ่/อื่นๆ ต้องสแกนบาร์โค้ดจาแอปฯ นี้ ซึ่งต้องลงทะเบียนทางมือถือก่อนใช้งาน ใครไม่มีก็ลงชื่อในกระดาษได้
  2. ติดตามข่าวตัวเลขการระบาดรายวัน
  3. จองวัคซีนที่คนอื่นสละสิทธิ์
  4. มีอีกหลายอย่าง เช่น แผนที่ ธนาคาร โอนเงินให้เพื่อนในรายชื่อ ฯลฯ

.......

ว่าด้วยวัฒนธรรมเกาหลี 
(*จากประสบการณ์ส่วนตัว)

"พวกวัฒนธรรมกับมารยาททางสังคมนี่ยากเหมือนกันนะ เป็นคนเอเชียเหมือนกันก็จริงแต่ธรรมเนียมปฏิบัติที่นี่เข้มข้นมากกว่านั้น และความ seniority สูงมาก เช่น อาจารย์-ศิษย์ หรือรุ่นพี่-รุ่นน้อง จะมีบอกชัดเจนว่าต้องทำยังไงในกรณีไหน (ห่างกันปีเดียวก็ต้องเคารพแล้ว) เราเป็นต่างชาติจะงงๆ หน่อย สมมติทำผิดขึ้นมา ถ้าเค้าเข้าใจก็ดี แต่ถ้าไม่เข้าใจก็อาจโดนมองว่าไม่มีมารยาทได้"

ตัวอย่าง (นี่แค่ตัวอย่าง!!)

  • มีการโค้งคำนับ 3 ระดับ โค้งน้อยนิด / โค้งลงนิด / โค้งสุดๆ
  • การรักษาระยะห่าง ต้องก้มหัวให้ต่ำกว่าผู้ใหญ่ที่กำลังพูดอยู่ แต่ถ้าผู้ใหญ่หรืออาจารย์ยืนอยู่ เราก็ไม่ควรนั่งกับพื้น ต้องยืนขึ้นเพราะเรากำลังคุยกับเค้าอยู่
  • มารยาทบนโต๊ะอาหาร เรารินน้ำเปล่าให้ตัวเองได้ แต่ไม่ควรรินแอลกอฮอล์ให้ตัวเอง
  • เวลาดื่มแอลกอฮอลล์ คนที่อายุน้อยกว่าต้องไม่ยกแก้วกระดกขึ้นต่อหน้าคนที่อายุมากกว่า ต้องเบี่ยงออกนอกวงก่อนแล้วยกแก้วกระดก แต่สมมติเป็นคนไทยที่อายุมากกว่าคนเกาหลี เค้าก็อาจไม่ได้ทำแบบเดียวกับเราแบบนั้น
  • การเปลือยเท้าให้คนอื่นเห็น = ไม่สุภาพอย่างแรง ต้องสวมถุงเท้า ต่อให้ใส่รองเท้าแตะบางคนก็ยังต้องสวมถุงเท้าด้วย ถ้ากับเพื่อนไม่เป็นไร แต่ถ้ากับผู้ใหญ่จะซีเรียส
  • สามารถแต่งตัวไปรเวทแบบ Casual Style ไปแล็บได้ หรือขาสั้นได้ในวันซัมเมอร์ร้อนๆ แต่อย่างไรก็ตาม เท้าห้ามเปลือย

“ส่วนใหญ่เวลาเมืองนอกก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้เพื่อให้ปรับตัวได้ เรื่องความคิดคนก็เหมือนกัน เพราะเกาหลีจะมีความชาตินิยมของเขาอยู่ ต้องพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างและความคิดที่เกาหลีมีต่อต่างชาติ ซึ่งจะมีหลายเลเวลอีก เช่น ถ้าเราช่วยเหลือก็อย่าคาดหวังว่าเค้าจะตอบแทนเราเหมือนกับที่เค้าปฏิบัติต่อคนเกาหลีด้วยกัน"

"หรืออย่างการโดนยิงคำถามที่ทำให้กระอักกระอ่วนใจที่จะตอบ เช่น บ้านคุณต้องรวยมากสินะถึงจะมาเรียนเกาหลีได้? บางทีเค้าไม่ได้ถามเพราะเกลียด แต่เพราะไม่ทันคิด เหมือนเป็นบาปสีขาวแหละ เขาอาจรับรู้แค่ด้านนั้นมา เราต้องหาวิธีตอบให้สบายใจทั้งเราและเค้า" (เรื่อง racism และการเลือกปฏิบัติมีอยู่จริง และพี่เคยประสบกับตัวเอง)

เที่ยวเยอะมากกกก
เที่ยวเยอะมากกกก
3 ภาพแรก 'เจจู' (Jeju) / มุมขวาล่าง 'คูมิ' (Gumi)
คย็องจู (Gyeongju)
คย็องจู (Gyeongju)

คิดเห็นยังไงกับวงการแพทย์ของไทย?

 

“พี่กล้าพูดได้เลยว่าความรู้ความสามารถของคนไทย โดยเฉพาะในแง่การรักษาพยาบาล เราสามารถเทียบเคียงสากลได้หมดโดยไม่มีข้อกังขา และเบื้องหลังการวิจัยยาหลายตัวก็มาจากคนไทยที่ศึกษาทั้งในและต่างประเทศนะ ภูมิใจได้เลยครับ”

แต่ถ้าถามว่าเผชิญอุปสรรคอะไรอยู่?  “ก็คือเงินกับโอกาส ถ้าเทียบกับเกาหลี แรงจูงใจการเรียนโทกับเอกน้อยกว่าเกาหลีเยอะ ที่เกาหลีการันตีว่าอย่างน้อยจะมีเงินเดือนให้ ช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายจากทุนของรัฐบาลที่มีมากมายก่ายกอง ต่อให้ professor ไม่มีทุนนี้ ก็มีทุนอื่นอีก (professor จะเป็นคนถือทุนจากรัฐบาลอยู่) ทำให้คนตัดสินใจเรียนง่ายขึ้นแม้ฐานะทางการเงินไม่ค่อยดี”

นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลียังให้เงินสนับสนุน Start Up เยอะมาก และเป็นเงินให้เปล่าด้วยไม่ใช่กู้ยืม แล้วถึงสุดท้ายจะไม่ได้ผล ก็ไม่เสียอะไรให้รัฐบาล (แค่อาจมีผลกับการพิจารณาให้งบในครั้งต่อไป) เพราะมันคือผลดีต่อประเทศ แล้วเค้ากล้าเสี่ยงไปกับเราด้วย ในทางตรงข้ามคือหากรัฐไม่ได้กล้าเสี่ยงกับการวิจัยมากพอ ไม่สนับสนุนด้านนี้อย่างจริงจัง ก็ทำให้คนขาดแรงจูงใจในการเรียน ป.โท-เอก และอาจพัฒนาช้ากว่าประเทศอื่นได้”

@olga_kononenko / Unsplash.com
@olga_kononenko / Unsplash.com

.............

ชอบกินชอบเที่ยว ชอบชีวิตสไลไลฟ์
จด 'แทกู' (대구광역시) ไว้เลย! 

 

ถ้าเกิดใครอยากมาเรียนที่เกาหลี อยากสัมผัสอากาศดีๆ ใช้ชีวิตแนว slow-life รถไม่ติด คนไม่แออัด พี่เองไปมาทั่วเกาหลีแล้ว สรุปคือขอยกให้แทกูเป็น The best เมืองที่เหมาะกับการใช้ชีวิตแนวนี้ที่สุด มีทุกอย่าง รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า แหล่งเที่ยว ชอปปิงได้ไม่มีอะไรขาด ค่าครองชีพไม่สูงมาก ผู้คนใจดีด้วย

เป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ในประเทศ

“คนอาจไม่ค่อยรู้จักเมืองนี้เท่าไหร่นอกจากตอนโควิด จริงๆ แทกูคือเมืองใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ และเป็น 1 ใน 3 เมืองของเกาหลีที่มีหอคอย (โซล / ปูซาน / แทกู) ซึ่งในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น การมีหอคอยหมายถึงเมืองนั้นคือศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่า 'มหานคร' ( Metropolis)"

"ใครอยากมาแทกู จะมีสายการบินตรงจากไทยมาได้เลยนะครับ เพราะสนามบินแทกูเป็นแบบอินเตอร์ บินไปต่างประเทศได้ เช่น ไทย ไต้หวัน ฯลฯ แต่ช่วงนี้น่าจะงดเพราะโควิด"

ในอดีตคือเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของเกาหลี

“ถ้าในมุมการเมือง ในอดีตแทกูเคยเป็นที่ว่าราชการสมัยเกาหลีมีสงครามกับญี่ปุ่นและเกาหลีเหนือ เป็นศูนย์บัญชาการรบมีป้อมปราการไว้รับมือกับข้าศึก และเป็นที่อยู่ของพระราชาเวลาเสด็จมาด้วย ผูกพันแนบแน่นกับเคียงจูและอาณาจักรแพ็กเจ (Baekje) // แทกูเป็นเมืองรองของแพ็กเจ”

Daegu, South Korea (Google Map)
Daegu, South Korea (Google Map)

สุดยอดพิกัดเที่ยวแนวธรรมชาติ

“สถานที่เที่ยวดังๆ ในแทกูคือ ‘วัดดงฮวาซา’ (Donghwasa Temple) ตั้งอยู่บนเขา และมี Daegu Tower เป็นแลนมาร์กของเมือง และส่วนใหญ่คนจะชอบมาเที่ยวภูเขา คนเกาหลีจะชอบปีนเขามากครับ ถ้าชวนกันไปวัดแปลว่าชวนไปปีนเขา 5555 หรือถ้านั่งรถออกไป 1 ชั่วโมงจะมีเมืองเคียงจู อาณาจักรชิลลา (통일 신라 / Unified Silla) และมีสุสานพวกราชวงศ์กับวัดสำคัญๆ ให้เที่ยวด้วย"

Daegu 83 Tower Daegu South Korea Tower Building
Daegu 83 Tower Daegu South Korea Tower Building
NmewahanG / Pixabay 
แทกู
แทกู

"แล้วยิ่งช่วงดอกซากุระบาน (เรียกว่า ดอกพ็อดกด / 벚꽃) มหา'ลัยที่พี่เรียนเป็น 1 ใน 5 พิกัดมหา'ลัยที่สวยที่สุดในแทกูเลยครับ" // เสริมๆ  มหา'ลัยจะอยู่ใจกลางเมืองแทกู อารมณ์แบบจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ที่รายล้อมด้วยความสะดวกสบายและแหล่งชอปปิง  หอพักนักศึกษาแพทย์ที่พี่อยู่ช่วงแรกอยู่จุดกึ่งกลางของแหล่งบันเทิงด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นข้อเสียในตัวนั่นแหละ เพราะคืนวันศุกร์วันเสาร์เสียงจะดังมากกก ขนาดพี่อยู่ชั้น 6 ยังได้ยินชัด

KNU
KNU
KNU
KNU

ขอกาดอกจันทร์คำว่า **อาหาร**

"เป็นเรื่องที่อยากโปรโมตที่สุด อาหารแทกูกับปูซานอร่อยมากครับ!!  ถ้าใครกินอาหารที่ Seoul แล้วรู้สึกจืดชืดเกินไป อาจลองมาที่นี่ เพราะมันเข้มข้นมากอารมณ์อาหารใต้บ้านเรา คิดว่าน่าจะถูกปากคนไทย อย่างในแทกูจะมีอาหารขึ้นชื่อของที่นี่ เป็นอาหารจีนสไตล์คนเกาหลีเรียกว่า ‘ชุงฮวาบิบิมบับ’ หรือ ‘ข้าวยำเกาหลีสไตล์จีน' (중화비빔밥 / Chinese Bibimbap) ที่นี่จะมีผสมผสานวัฒนธรรมจีนด้วย เลยมีอาหารแนวจีนที่หากินที่อื่นไม่ได้ แล้วก็ยังมีถนนไส้หมูย่างแยกออกมาด้วย ดังมาก 55555”

'Dafrica' คือชื่อเล่นของแทกู

"เพราะเป็นเมืองที่ร้อนที่สุดและมีหิมะตกน้อยที่สุดในเกาหลี จนมีชื่อเล่นว่า Dafrica พี่เคยเจอพายุหิมะจริงจังแค่ครั้งเดียว เพราะถ้าดูจากภูมิศาสตร์ จุดที่แทกูอยู่จะเป็นตรงกลางระหว่างหุบเขา เหมือนเป็นแอ่งกะทะ สภาพอากาศแบบปิด ทำให้ร้อนเหมือนอยู่ในไมโครเวฟ”

เรื่องที่ควรระวัง ที่เกาหลีพี่จะชอบเจอคนมาทักว่าหน้าตาดูมีออร่าไม่สม่ำเสมอกันนะ ดูมีเคราะห์ ไปวัดด้วยกันมั้ย? ฯลฯ พี่น่าจะเจอคนมาชวนเข้าทุกลัทธิแล้วมั้ง 555 พอปฏิเสธก็จะถามว่า ฝากเงินไปทำบุญมั้ย?

.............

เป้าหมายหลังเรียนจบ?

“ถ้างานสายตรงของพี่ก็มีอาจารย์ นักวิจัย และงานบริษัท เงินเดือนนักวิจัยเริ่มต้น 2.5 ล้านวอน ใกล้เคียงกัน อันนี้เป็นข้อมูลที่แน่นอนจาก official เลย สวัสดิการก็ดี มีค่าเดินทางค่าบ้านให้”

คูมิ (Gumi)
คูมิ (Gumi)

ทิ้งท้ายถึงน้องๆ ที่อยากทำงานด้านวิจัย

"ไม่อยากให้รู้สึกกดดันหรือคิดว่ายาก เรามีศักยภาพทำได้แน่นอนครับ พอเข้ามาเรียนจะได้เจอทั้งเพื่อน อาจารย์ และบรรยากาศที่พาเราไปต่อได้ อดทนและพยายามไว้ครับ”

"แล้วถ้าใครอยากมาเกาหลี ล่าสุดเค้าก็มีผุดนโยบายที่พยายามให้ต่างชาติที่เรียนจบเกาหลี สามารถได้งานที่เกาหลีและเป็นพลเมืองที่เกาหลีได้ง่ายขึ้น ถ้าใครลังเลว่าจะเรียนต่อที่นี่ดีมั้ย หรืออยากอยู่เกาหลีอยู่แล้วก็มาเรียนได้เลย สาขาไหนก็ได้ โดยเฉพาะด้านวิจัย วิศวะ แพทย์ ฯลฯ เพราะตอนนี้กำลังขาดแคลน”

เมื่อ 27 สิงหาคม 2563 ‘ฮงนัมกี’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุทธศาสตร์และการเงินแห่งเกาหลีใต้ ได้ประชุมหารือสำหรับนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับชาวต่างชาติในเกาหลีใต้แบบจริงจัง  
 

โดยจะเริ่มจากการให้วีซ่าแก่นักศึกษาต่างชาติที่เรียนจบมหาวิทยาลัยในเกาหลีจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งวีซ่าที่จะได้รับจะเป็นประเภท E-9 (ประเภทแรงงานที่ไม่ใช่มืออาชีพ) เพื่อให้บริษัทที่ขาดแคลนแรงงานสามารถขยายกำลังคนที่มีคุณภาพเพื่อมาร่วมงานได้ โดยวีซ่านี้จะมอบช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เป็นต้นไป 

ตามไปส่องเงื่อนไขโอนสัญชาติเกาหลีเข้าชมหน้าหลักสูตรที่นี่

ช่องทางหลัก Kyungpook National University

[Facebook] [Twitter] [Website]

 

ขอบคุณภาพจากเจ้าของเรื่อง (บางส่วนจาก Pixabay และ Unsplash)https://pixabay.com/videos/daegu-83-tower-daegu-south-korea-28024https://unsplash.com/photos/98__MsKaUsI 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น