Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[Review] คณะจิตวิทยา จุฬาฯ : ตอนที่ 7 หลักสูตรและวิชาเรียน คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
คณะจิตวิทยา จุฬาฯ เปิดสอนหลักสูตรต่อไปนี้
• วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา (ปริญญาตรี)
•  ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา (ปริญญาโท)
•  ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา (ปริญญาเอก)

ชื่อหลักสูตรคือสาขาวิชาจิตวิทยา (ทั่วไป) ไม่ได้เจาะจงสาขาย่อยในชื่อหลักสูตร แต่การเรียนจริงตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอกจะมีแบ่งเป็น 4 สาขาได้แก่
•  สาขาจิตวิทยาการปรึกษา
•   สาขาจิตวิทยาสังคม
•   สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ
•   สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (ไม่เปิดสอนในปริญญาเอก)

ในบทความนี้จะเน้นกล่าวถึงหลักสูตรในระดับปริญญาตรีเป็นหลัก



# วิทยาศาสตรบัณฑิต V.S. ศิลปศาสตรบัณฑิต #

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ในระดับปริญญาตรีเปิดสอนเฉพาะวิทยาศาสตรบัณฑิต แต่บางมหาวิทยาลัยเปิดสอนจิตวิทยาในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สองหลักสูตรนี้แตกต่างกันอย่างไร?

วิทยาศาสตรบัณฑิตชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าวิทยาศาสตร์ เน้นเรียนในมุมมองนักวิทยาศาสตร์ อย่างที่กล่าวมาในบทความหลายตอนก่อนหน้า นักจิตวิทยาคือนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาด้านจิตใจ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตจะสอนให้รู้จักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ การทำวิจัย การวิเคราะห์สถิติ จุดประสงค์คือเพื่อศึกษาจิตวิทยาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และสามารถสร้างทฤษฎีจิตวิทยาใหม่ด้วยตัวเองได้

ศิลปศาสตรบัณฑิตจะเน้นเรียนทฤษฎีที่ถูกค้นพบแล้วเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นหลัก มีเรียนการวิจัยและสถิติบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจจิตวิทยามากขึ้น แต่ไม่ได้เน้นเรียนเพื่อสร้างความรู้เองเหมือนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ส่วนใหญ่ศิลปศาสตรบัณฑิตจะสอนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เช่น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา

ทั้งสองหลักสูตรนี้เนื้อหาวิชาโดยรวมจะคล้ายกัน ทั้งคู่ต้องเรียนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งคู่ต้องเรียนทฤษฎีที่ค้นพบแล้ว แต่ต่างกันตรงที่การให้น้ำหนักกับการประยุกต์หรือการวิจัย ศิลปศาสตรบัณฑิตจะใช้เวลาเรียนไปกับการประยุกต์มากกว่า ในขณะที่วิทยาศาสตรบัณฑิตจะใช้เวลาเรียนไปกับการวิจัยมากกว่า



# คณะจิตวิทยา จุฬาฯ มีสาขาจิตวิทยาคลินิกไหม? #

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ไม่เปิดสอนสาขาจิตวิทยาคลินิกในทุกระดับตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก จิตวิทยา จุฬาฯ เน้นสอนการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาจิตใจ (นักวิจัย) มากกว่านำจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้โดยตรง แต่ก็มีแนวประยุกต์โดยตรงอยู่หนึ่งสาขา นั่นคือสาขาจิตวิทยาการปรึกษา อีกหนึ่งสาเหตุคือนิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ที่สนใจจิตวิทยาคลินิกโดยเฉพาะมีจำนวนน้อย จิตวิทยาการปรึกษาได้รับความนิยมมากกว่าจิตวิทยาคลินิก (ทั้งสองสาขานี้ต้องเรียนจบปริญญาโทจึงจะประกอบอาชีพได้) คณะจิตวิทยา จุฬาฯ จึงไม่ได้เปิดสอนสาขาจิตวิทยาคลินิก

ขอดักไว้ตรงนี้ก่อนเผื่อใครที่เพิ่งอ่านบทความนี้เป็นครั้งแรก ลองตรวจว่าคุณมีความคิดแบบนี้หรือไม่ (1) อยากเรียนจิตวิทยาคลินิกเพราะอยากช่วยคนอื่นที่มีปัญหา (2) เรียนจิตวิทยาคลินิกได้เปรียบกว่าจิตวิทยาสาขาอื่น (3) นักจิตวิทยาต้องอยู่กับคนผิดปกติหรือคนที่มีปัญหาชีวิตหรือต้องทำงานในโรงพยาบาล (4) เป็นจิตแพทย์ดีกว่านักจิตวิทยา ถ้ามีความคิดแบบนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจว่าจิตวิทยาเรียนอะไร ขอให้ย้อนกลับไปอ่านบทความตั้งแต่ตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 6 (ลิงค์อยู่ด้านล่างสุด)



# หลักสูตรไทย & หลักสูตรนานาชาติ #

คณะจิตวิทยา จุฬาฯ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรไทย (ปกติ) และหลักสูตรนานาชาติ (Joint International Psychology Program: JIPP) สำหรับหลักสูตรนานาชาติจะเรียนปี 1-2 ที่จุฬาฯ จากนั้นเรียนปี 3-4 ที่มหาวิทยาลัย Queensland ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อจบการศึกษาจะได้ใบปริญญา 2 ใบคือใบปริญญาของจุฬาฯ และใบปริญญาของ Queensland โดยใช้เวลาเรียนแค่ 4 ปีเหมือนหลักสูตรไทย หลักสูตรนานาชาติจะเรียนหนักกว่าหลักสูตรไทย ค่าเทอมแพงกว่า และต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด (รวมทั้งคำพูดของอาจารย์ด้วย) แม้ว่าจะเป็นช่วง 2 ปีแรกที่เรียนในจุฬาฯ ก็ตาม

หลักสูตรไทยคือหลักสูตรปกติสำหรับคนที่อยากเรียนจิตวิทยา เรียนในจุฬา 4 ปี แต่ถึงจะบอกว่าเป็นหลักสูตรไทยก็เถอะ แต่ตอนเรียนจริงก็ต้องเจอภาษาอังกฤษเยอะมาก เพราะจิตวิทยาในไทยยังไม่ค่อยโต ความรู้ส่วนใหญ่ต้องเรียนของต่างประเทศ หนังสือเรียนเป็นภาษาอังกฤษ คำศัพท์วิชาการเป็นภาษาอังกฤษ (บางคำมีแปลไทย แต่แปลแล้วเข้าใจยากกว่าเดิม) สไลด์ Power Point ของอาจารย์ก็เป็นภาษาอังกฤษ ตอนทำรายงานส่งก็ต้องอ้างอิงงานวิจัยภาษาอังกฤษ (เพราะงานวิจัยจิตวิทยาในไทยมีน้อย) สรุปสั้น ๆ ว่าต้องเจอภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด มีภาษาไทยอยู่สองอย่างคืออาจารย์จะพูดสอนเป็นภาษาไทย (เฉพาะคำพูด ไม่รวมสไลด์) และการส่งงานเขียนเป็นภาษาไทย

ในบทความนี้จะอธิบายเฉพาะหลักสูตรไทย



# รายละเอียดหลักสูตร #

รายละเอียดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561)
https://www.psy.chula.ac.th/psy/file/course/หลักสูตรฯ%20วทบ.จิตวิทยา_หลักสูตรปรับปรุง%20พ.ศ.2561.pdf

ระยะเวลาการศึกษาที่กำหนดคือ 4 ปี จำนวนหน่วยกิตขั้นต่ำ 135 หน่วยกิต ประกอบด้วย
•   วิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
•   วิชาบังคับ 69 หน่วยกิต
•   วิชาบังคับเลือก 15 หน่วยกิต
•   วิชาเลือก 15 หน่วยกิต*
•   วิชาเสรี 6 หน่วยกิต

* สำหรับวิชาเลือก 15 หน่วยกิตเป็นวิชาสำหรับนิสิตคณะจิตวิทยาที่เรียนวิชาโทในคณะจิตวิทยา (ไม่ได้เรียนวิชาโทนอกคณะ) ส่วนนิสิตคณะจิตวิทยาที่ลงเรียนวิชาโทนอกคณะไม่ต้องเรียนวิชาเลือก 15 หน่วยกิต แต่ให้เรียนวิชาโทนอกคณะตามหลักสูตรที่คณะนั้นกำหนดไว้แทน โดยต้องเรียนวิชาโทนอกคณะ 18-21 หน่วยกิต (ขึ้นอยู่กับคณะที่เรียน) 



# วิชาเรียนในหลักสูตร #

วิชาศึกษาทั่วไป
วิชาศึกษาทั่วไป (Gen-Ed) คือวิชาที่มหาวิทยาลัยบังคับให้ทุกคณะต้องเรียน จะได้ไปเรียนที่คณะอื่น จุดประสงค์คือเพื่อให้นิสิตมีความรู้รอบตัว เป็น soft skill ที่นิสิตทุกคณะสามารถนำไปใช้ประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้

สำหรับคณะจิตวิทยามีวิชาศึกษาทั่วไปที่บังคับต้องเรียน 6 วิชา (18 หน่วยกิต) ได้แก่
• ภาษาอังกฤษเพื่อการเรียนรู้ในชีวิตจริง 2 วิชา เป็นวิชาที่สอนภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน
• ภาษาอังกฤษสำหรับสาขาจิตวิทยา 2 วิชา เรียนบทความวิชาการและคำศัพท์จิตวิทยา แต่เรียนไม่ลึกเท่าวิชาในคณะ
• การเขียนย่อหน้า เรียนการเขียนบทความให้ถูกต้องตามหลักการ นิสิตคณะจิตวิทยาจะต้องเขียนเยอะมากตลอด 4 ปี
• ปรัชญาและตรรกวิทยา เรียนเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษากระบวนการทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนั้นนิสิตคณะจิตวิทยาจะได้เลือกวิชาศึกษาทั่วไป 4 วิชา (12 หน่วยกิต) โดยต้องเลือกให้ครบทั้ง 4 กลุ่มวิชา (ว่าง่าย ๆ คือเรียนกลุ่มละ 1 วิชา) ได้แก่ กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และกลุ่มวิชาสหศาสตร์


วิชาบังคับ
วิชาบังคับคือวิชาที่นิสิตคณะจิตวิทยาทุกคนต้องเรียนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเรียนสาขาไหนก็ตาม ถือว่าเป็นวิชาที่จะได้พบกับเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหมด วิชาบังคับส่วนใหญ่จะเรียนในปี 1-2 วิชาบังคับของคณะจิตวิทยามีดังนี้

•  จิตวิทยาทั่วไป เป็นวิชาสรุปเนื้อหาจิตวิทยาทั้งหมดทุกสาขาให้อยู่ในวิชาเดียว เป็นวิชาแรกที่นิสิตคณะจิตวิทยาจะได้เรียน จุดประสงค์คือเพื่อปูพื้นฐานให้นิสิตก่อนที่จะเรียนลึกต่อไป คณะอื่นบางคณะต้องเรียนวิชานี้ด้วย

 • กลุ่มวิชาจิตวิทยาขั้นนำของแต่ละสาขา เป็นวิชาสรุปเนื้อหาของสาขานั้น ๆ จุดประสงค์คือเพื่อให้นิสิตเข้าใจว่าแต่ละสาขาเรียนเกี่ยวกับอะไร และเป็นแนวทางในการเลือกสาขาที่จะเรียนในตอนปี 3 คณะจิตวิทยา จุฬาฯ มีสอน 4 สาขา (ปรึกษา, พัฒนาการ, สังคม, I/O) ดังนั้นวิชาจิตวิทยาขั้นนำก็จะมี 4 วิชาแยกตามสาขา

•  กลุ่มวิชาจิตวิทยาพื้นฐาน เป็นวิชาที่เรียนความรู้พื้นฐานที่สามารถใช้ได้ในทุกสาขา วิชาในกลุ่มนี้ได้แก่ จิตวิทยาการเรียนรู้ (มนุษย์เรียนรู้ได้อย่างไร) จิตวิทยาบุคลิกภาพ (แบ่งบุคลิกภาพของมนุษย์ได้อย่างไร) จิตวิทยาการรู้คิด (เรียนกระบวนการรู้คิดของมนุษย์)

กลุ่มวิชาชีววิทยาและประสาทวิทยา เป็นวิชาที่เรียนคล้ายกับสาขาจิตวิทยาประสาท แต่เนื่องจากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ไม่มีสาขาจิตวิทยาประสาทโดยเฉพาะ วิชากลุ่มนี้จึงแยกออกมาจากกลุ่มวิชาอื่น วิชาในกลุ่มนี้ได้แก่ ชีววิทยาทั่วไป (เนื้อหาคล้ายมัธยมปลาย) สรีรวิทยา (เรียนทุกส่วนของร่างกาย) จิตชีววิทยา (เรียนกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของระบบประสาท) ประสาทศาสตร์เชิงพฤติกรรม (อธิบายพฤติกรรมด้วยสรีรวิทยาของระบบประสาท)

จิตพยาธิวิทยา เป็นวิชาที่เรียนเรื่องความผิดปกติทางจิต การวินิจฉัยและการรักษาโรค โดยอ้างอิงคู่มือ DSM-V ถือว่าเป็นวิชาบังคับที่ใกล้เคียงสาขาจิตวิทยาคลินิกมากที่สุด แต่เนื่องจากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ไม่มีสาขาจิตวิทยาคลินิกโดยเฉพาะ วิชานี้จึงไม่สามารถจัดเข้าในกลุ่มวิชาอื่นได้

กลุ่มวิชาระเบียบการวิจัยและสถิติ เป็นวิชาที่สำคัญมากของคณะจิตวิทยา เนื่องจากสิ่งที่อยู่ในจิตใจหลายอย่างเป็นนามธรรม แต่จิตวิทยาต้องการศึกษาจิตใจด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ต้องแปลงจิตใจที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรมให้ได้ การเรียนวิชาต่าง ๆ ในคณะจิตวิทยาจะมีการกล่าวถึงการวิจัยและสถิติอยู่บ่อยครั้ง กลุ่มวิชานี้จึงเป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับนิสิตคณะจิตวิทยา นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการสร้างแบบวัดและแบบประเมินทางจิตวิทยาได้อีกด้วย

กลุ่มวิชาปฏิบัติ เป็นวิชาที่ให้นิสิตได้มีทักษะและประสบการณ์จริงก่อนจบการศึกษา วิชาในกลุ่มนี้ได้แก่ การฝึกประสบการณ์ภาคสนาม (ฝึกงาน 2 เดือนตอนปิดเทอมฤดูร้อนปี 3) สัมมนาทางจิตวิทยา (เพื่อแลกเปลี่ยนหัวข้อวิจัยที่สนใจ) การทำวิจัยทางจิตวิทยา (มีชื่อเล่นว่า senior project หรือโปรเจคจบ)


วิชาบังคับเลือก
วิชาบังคับเลือกคือวิชาที่บังคับให้เรียนแต่เลือกเรียนได้ (งง?) วิชาบังคับเลือกจะมีวิชาให้เลือกหลายวิชา นิสิตสามารถเลือกได้เองว่าจะเรียนวิชาไหน (เป็นที่มาของคำว่า “เลือก”) แต่นิสิตทุกคนถูกบังคับให้เลือกวิชาในกลุ่มนี้ (เป็นที่มาของคำว่า “บังคับ”) ยกตัวอย่างเช่น มีวิชาในกลุ่มนี้ทั้งหมด 15 วิชา หลักสูตรบังคับให้เรียนวิชาบังคับเลือกขั้นต่ำ 5 วิชา ดังนั้นนิสิตสามารถเลือกเรียนวิชาใดใน 15 วิชานี้ก็ได้ โดยต้องเลือกอย่างน้อย 5 วิชา วิชาบังคับเลือกต่างจากวิชาบังคับคือ วิชาบังคับเลือกนิสิตสามารถเลือกวิชาเองได้จากวิชาที่กำหนดให้กว้าง ๆ แต่วิชาบังคับจะกำหนดเป็นชื่อวิชาชัดเจนเลย เลือกเองไม่ได้

ในทางปฏิบัติวิชาบังคับเลือกก็คือสาขาที่แยกเรียนนั่นล่ะ ตอนปี 3-4 นิสิตคณะจิตวิทยาจะแยกเรียนตามสาขาที่ตนเองสนใจ วิชาของแต่ละสาขาจัดอยู่ในวิชาบังคับเลือกนั่นเอง

ตัวอย่างวิชาบังคับเลือก เช่น
[จิตวิทยาการปรึกษา] กระบวนการช่วยเหลือเชิงจิตวิทยาการปรึกษา, จิตบำบัดแบบกลุ่ม
[จิตวิทยาพัฒนาการ] จิตวิทยาผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ, จิตวิทยาครอบครัวและชีวิต
[จิตวิทยาสังคม] การจูงใจมนุษย์, การเปลี่ยนเจตคติ
[จิตวิทยา I/O] จิตวิทยาการพัฒนาองค์การ, จิตวิทยาบุคลากร


วิชาเลือก / วิชาโทนอกคณะ
วิชากลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 2 กรณี กรณีแรกคือนิสิตคณะจิตวิทยาที่เรียนวิชาเลือก (ไม่ได้เรียนวิชาโทนอกคณะ) บางครั้งจะเรียกกันว่าวิชาโทในคณะ วิชาเลือกหมายถึงวิชาโทในคณะนั่นล่ะ การเรียนวิชาเลือกก็คล้ายกับวิชาบังคับเลือก มีวิชาที่กำหนดว่าเป็นวิชาเลือกหลายวิชา แล้วให้เลือกเรียนในวิชาเลือกจนครบหน่วยกิตขั้นต่ำ วิชาเลือกแยกเรียนตามสาขาต่าง ๆ สำหรับคนที่เรียนวิชาโทในคณะจะมองว่าวิชาบังคับเลือกกับวิชาเลือกไม่ต่างกัน เพียงแค่ถูกจัดเป็นวิชาคนละกลุ่มกันเท่านั้น

ตัวอย่างวิชาเลือก เช่น
[จิตวิทยาการปรึกษา] การปรึกษาเชิงจิตวิทยาครอบครัว, จิตวิทยาความแตกต่างและความหลากหลาย
[จิตวิทยาพัฒนาการ] การกระตุ้นพัฒนาการ, จิตวิทยาการอปกติในเด็กและวัยรุ่น
[จิตวิทยาสังคม] จิตวิทยากับอาชญากรรม, จิตวิทยาสังคมความก้าวร้าว
[จิตวิทยา I/O] มนุษยปัจจัยและจิตวิทยาวิศวกรรม, การทดสอบในอุตสาหกรรมและองค์การ
[จิตวิทยาอื่น ๆ] จิตวิทยาคลินิกขั้นนำ, การปรับพฤติกรรม

กรณีที่สองคือนิสิตคณะจิตวิทยาที่เรียนวิชาโทนอกคณะ ซึ่งสามารถเรียนวิชาโทนอกคณะได้ 4 คณะได้แก่ วิชาโทรัฐศาสตร์ วิชาโทเศรษฐศาสตร์ วิชาโทนิเทศศาสตร์ และวิชาโทอักษรศาสตร์ การเรียนวิชาโทจะเปรียบเหมือนว่าเป็นนิสิตใหม่ของคณะนั้น ต้องไปเรียนร่วมกับรุ่นน้องปี 1-2 ของคณะนั้น การเรียนวิชาโทนอกคณะจะไม่มีอิสระในการเลือกวิชามากเหมือนกับเรียนวิชาโทในคณะ เพราะจะต้องเรียนวิชาพื้นฐานหลายตัว และต้องเรียนตามหลักสูตรที่คณะที่เปิดสอนวิชาโทกำหนดให้เท่านั้น

นิสิตที่เรียนวิชาโทนอกคณะไม่ต้องเรียนวิชาเลือก (วิชาโทในคณะ) ถือว่าวิชาโทนอกคณะเทียบเท่ากับวิชาเลือก แต่ถ้าเรียนวิชาโทนอกคณะและเรียนวิชาเลือกซ้ำอีก จะนับว่าวิชาเลือกนั้นเป็นวิชาเสรี การเรียนวิชาโทนอกคณะเหมาะสำหรับคนที่อยากศึกษาความรู้หลายด้าน นำความรู้อีกศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกับความรู้ทางจิตวิทยา การเรียนวิชาโทนอกคณะทำให้มีมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปด้วย เข้าใจคนที่ทำงานในวิชาชีพอื่นมากขึ้น และทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น


วิชาเสรี
วิชาเสรีคือวิชาที่ไม่สามารถจัดเข้าในกลุ่มวิชาข้างต้นได้ กล่าวคือวิชาเสรีคือวิชาที่ไม่ใช่วิชาศึกษาทั่วไป ไม่ใช่วิชาบังคับ ไม่ใช่วิชาบังคับเลือก และไม่ใช่วิชาเลือกหรือวิชาโทนอกคณะ นอกจากนี้ถ้าวิชาในกลุ่มอื่นมีหน่วยกิตเกินขั้นต่ำที่กำหนด วิชาส่วนที่เกินจะถูกปัดมาเป็นวิชาเสรี วิชาเสรีจะเป็นวิชาอะไรก็ได้ อาจเป็นวิชาที่กำหนดว่าเป็นวิชาเสรีอยู่แล้ว หรือเป็นวิชาเลือกของนิสิตที่เรียนวิชาโทนอกคณะ หรือเป็นวิชาศึกษาทั่วไปที่เรียนเกินหน่วยกิตขั้นต่ำ หรือเป็นวิชาบังคับเลือกที่เรียนเกินหน่วยกิตขั้นต่ำ หรือเป็นวิชาของคณะอื่นที่ขอเรียนกับอาจารย์ผู้สอนเพราะอยากเรียนเอง หรือจะเป็นวิชาอะไรก็ได้ทั้งนั้น สรุปว่าวิชาเสรีคือวิชาที่ไม่สามารถจัดเข้าในวิชากลุ่มอื่นได้



# เกี่ยวกับบทความชุดนี้ #

พี่ชื่อดาดา เรียนคณะจิตวิทยา จุฬาฯ มีน้องหลายคนสนใจคณะจิตวิทยา ทั้งรุ่นน้องที่โรงเรียนเก่า น้องที่สมัครค่ายเจาะจิต และน้องที่ถามพี่ในเว็บเด็กดี มีหลายคำถามและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคณะจิตวิทยา พี่ตอบคำถามไปหลายครั้งแล้วจนรู้สึกว่าควรเขียนบทความขึ้นมาจริงจังสักที ให้น้องรู้จักคณะจิตวิทยาอย่างละเอียดเลย ถ้ามีน้องตั้งกระทู้ถามในสิ่งที่พี่เคยเขียนในบทความชุดนี้แล้ว พี่จะให้ลิงค์บทความชุดนี้ให้น้องมาอ่านนะ

ถ้าสนใจเรื่องไหน หัวข้อไหน หรือมีคำถาม อยากให้พี่อธิบายก็โพสต์ตอบได้ในกระทู้เลย

[Review] คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ตอนที่ 1 จิตวิทยาเรียนอะไร? (7 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 2 จิตวิทยา V.S. จิตเวชศาสตร์ (จิตแพทย์) (14 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 3 สาขาต่าง ๆ ในจิตวิทยา (21 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 4 ตัวอย่างเนื้อหาจิตวิทยา (28 ก.พ. 2563)
ตอนที่ 5 เรียนจิตวิทยาแล้วได้อะไร? (6 มี.ค. 2563)
ตอนที่ 6 จบไปทำงานอะไรได้บ้าง? (13 มี.ค. 2563)
ตอนที่ 7 หลักสูตรและวิชาเรียน คณะจิตวิทยา จุฬาฯ (27 มี.ค. 2563)
อาจมีตอนอื่นเพิ่มในภายหลัง...

[Quiz] แบบทดสอบเกี่ยวกับจิตวิทยา
คุณรู้จัก "จิตวิทยา" มากแค่ไหน? - ทดสอบก่อนเลือกเข้าคณะ

ถ้าชอบ ถูกใจ หรือมีประโยชน์....
อย่าลืม SHARE ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านด้วยล่ะ

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

DaDa Lizala 9 เม.ย. 63 เวลา 21:22 น. 1-1

คณะจิตวิทยาจุฬาฯ รับทุกสายค่ะ เข้าได้หมด

0
Ploy_paloyployly 19 เม.ย. 63 เวลา 23:35 น. 2

พี่พอมีช่องทางติดต่อมั้ยคะ? คือหนูเป็นdek64อ่ะค่ะ หนูอยากสอบถามเพิ่มเติมหน่อย หนูอยากเข้าจิตวิทยาจุฬามากๆ อยากขอคำแนะนำหน่อยค่ะ(:https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/yy-big-06.png

1
DaDa Lizala 20 เม.ย. 63 เวลา 02:18 น. 2-1

ส่งข้อความส่วนตัวทางเว็บเด็กดีได้เลยค่ะ

0
Pat 11 ก.ย. 65 เวลา 02:48 น. 3

สอบถามหน่อยค่ะ ถ้าจบป.ตรี สาขาวิชาชีพอื่นมาแล้ว สนใจเรียนต่อหลักสูตรปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา นานาชาติ มีช่องทางการรับสมัครอย่างไรบ้างคะ ขอบคุณค่า

0